สอศ.รับลูก’นฤมล‘จัดทำหลักสูตรปวศ.-ถกก.ค.ศ.เปิดช่องใช้วิทยฐานะขอ‘ศ.‘
สอศ.รับลูก’นฤมล‘จัดทำหลักสูตรปวศ.-ถกก.ค.ศ.เปิดช่องใช้วิทยฐานะขอ‘ศ.‘
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า
ตามที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มอบนโยบาย แยกวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นอีกรายวิชา ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มีการดำเนินการจัดทำหลักสูตรอยู่แล้ว และจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในบริบทของอาชีวศึกษา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอาชีวศึกษา มีการจัดกิจกรรมคู่ขนานในวิชาหน้าที่พลเมืองอยู่แล้ว เช่น Fix it จิตอาสา อาชีวะอาสาช่วยประชาชน ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในการให้เด็กมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม ดังนั้นการที่ รัฐมนตรีว่าการศธ. มีนโยบายที่ชัดเจนออกมาเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่สอศ.จะได้ไปทำหลักสูตรขึ้นมารองรับ
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการลดภาระครู จริง ๆ แล้วอาชีวะมีปัญหาขาดแคลนอัตราครูรวมเกือบ 17,000 ตำแหน่ง ซึ่ง สอศ.ได้ขออัตราจาก สำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.)และงบประมาณรายปีในส่วนของอัตราจ้างงานธุรการในสถานศึกษาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ โดยปีนึงก็ขอไป 800 กว่าอัตรา และส่วนที่เป็นครูอีกประมาณ 1,000 อัตรา ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สอศ.มีอัตราบุคลากรทางการศึกษาอื่น มาตรา 38 ค(2) ในตำแหน่งธุรการ เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่การเงินอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหาในการเกลี่ยอัตรากำลัง อีกทั้งครูส่วนใหญ่ของเราจะจบทางด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีความรู้ที่จะช่วยงานธุรการได้ แต่เมื่อมีนโยบายลดภาระครูก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในขณะที่เรากำลังเกิดวิกฤติขาดแคลนอัตรากำลังของครูได้เพื่อให้ครูได้ให้เวลากับการสอนเต็มที่ ถือเป็นการแก้วิกฤตเป็นโอกาส
นายยศพล กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องวิทยฐานะจะต้องประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก ค.ศ.)เนื่องจากในบริบทของอาชีวะเดิมจะสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช. ) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส. )แต่ปัจจุบัน มีถึงระดับปริญญาตรีแล้ว เพราะฉะนั้นอัตรากำลังขาดแต่ในตัวเนื้องานที่มีการปรับเปลี่ยน เพราะครูอาชีวะมีคุณสมบัติสามารถปรับมาตรฐานตำแหน่งเพื่อให้สอนได้ถึงปริญญาตรี ขณะเดียวกันปริญญาตรีก็สอนได้ทั้งปริญญาตรี ปวส. และ ปวช.แล้วเอาภาระงานเหล่านี้มาขอความก้าวหน้าได้ เช่น ถ้าสอน ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และ เป็นครูที่มีวิทยฐานะอยู่ก็สามารถไปขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผศ. รศ. ศ.ได้ แต่เรื่องนี้จะต้องประสานกับ ก.ค.ศ. ทั้งนี้เราพยามจะปรับมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานงานวิชาการ มาตรฐานวิทยฐานะเพื่อให้สามารถเลื่อนไหลกันได้ทั้งในส่วนของวิทยฐานะกับตำแหน่งทางวิชาการ
“จริง ๆ ปัญหาของอาชีวะในเรื่องของวิทยฐานะ ไม่ใช่เรื่องทำแล้วไม่ผ่าน แต่เพราะไม่ค่อยทำกันมากกว่า ครูอาชีวะจะมุ่งเรื่องงานสอน จนไม่มีเวลาทำผลงาน เนื่องจากอาชีวะขาดแคลนอัตราครู ตั้งแต่ผมพยายามกระตุ้นให้ครูอาชีวะใส่ใจกับการขอวิทยฐานะซึ่งก็มีการขยับขอเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบัน เราวิทยฐานะมีเชี่ยวชาญพิเศษแล้วถึง4 คน และชาวอาชีวะก็มีความตื่นตัวที่จะส่งผลงานขอมีวิทยฐานะเพิ่มขึ้นเนื่องจากในส่วนของอาชีวะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะการสอนวิชาชีพจะมีเนื้องานที่สามารถส่งผลงานได้มาก เพียงแต่ไม่ค่อยทำส่งจึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้น” เลขาธิการ กอศ. กล่าวและว่า ส่วนเรื่องหนี้สินครู สอศ.ก็มีการดำเนินการแก้ปัญหามาโดยตลอด และยิ่งเมื่อ นางนฤมล เข้ามาและมีนโยบายชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินครูก็เป็นแนวทางที่ตรงกันซึ่งตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สอศ.รับลูก’นฤมล‘จัดทำหลักสูตรปวศ.-ถกก.ค.ศ.เปิดช่องใช้วิทยฐานะขอ‘ศ.‘
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th