โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ท่านชายจักร” ปูชนียบุคคลที่น่าจดจำ

GM Live

อัพเดต 19 กรกฎาคม 2568 เวลา 22.16 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องราวของผู้ชาย เทรนด์ บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ธุรกิจ รถยนต์ Gadget สุขภาพ อัพเดทก่อนใคร

เรียบง่ายและติดดิน

หลายคนรวมทั้ง GM Liveคุ้นเคยพระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ หรือท่านชายจักร จากการถวายงานด้านการประพันธ์เนื้อร้องประกอบทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” แต่ในอีกด้านทรงเป็นนักบริหารทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ จนสามารถกล่าวได้ว่า “ท่านชายจักร” ปูชนียบุคคลที่น่าจดจำ

ศาสตราจารย์พิเศษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินรัชกาลที่ ๘ และ หม่อมจำรัส (ปิยะวัตร) จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ประสูติที่วังหลานหลวง เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ พระยศแรกเมื่อประสูติว่า “หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ” หรือ “ท่านชายจักร - ท่านจักร” ผู้ที่ได้คลุกคลีกับท่าน ต่างยอมรับถึงความเรียบง่ายและติดดิน

เมื่อวัยเยาว์ ท่านจักรองค์เล็ก ผอมบาง ไม่ค่อยแข็งแรง พระบิดาจึงเรียกชื่อเล่นว่า ”จี๊ด” ครั้นเมื่ออยู่ในช่วงอายุ ๗-๑๑ ปี พระบิดาพาไปถวายตัวอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยพระองค์ทรงโปรดให้ท่านจักรถวายการรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด เช่น ตามเสด็จเรือพระที่นั่งจักรี เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะต่างๆในอ่าวไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ท่านจักรไปศึกษาด้านการเกษตรที่ประเทศสิงคโปร์

ราชสกุล “จักรพันธุ์” ได้ประทับที่วังหลานหลวงนาน ๕๐ ปี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เพียง ๒ วัน คือ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีการเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ และพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในราชสกุลต่างๆ ออกจากราชการ ทำให้สมาชิกราชสกุลทั้งหลายดำรงพระชนม์ชีพด้วยความลำบาก ราชสกุลจักรพันธุ์ ได้ทำการขายวังหลานหลวง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

ซึ่งเมื่อปี ๒๔๘๐ ท่านจักรกลับเมืองไทย จึงไม่มีโอกาสประทับที่วังหลานหลวงอีก โดยด้านที่อยู่นั้น ท่านได้ย้ายหลายแห่งและหลายครั้ง เช่นไปอยู่กับพลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ผู้เป็นพี่ชาย ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านพ่อตา หลวงกาจสงคราม อีกระยะหนึ่ง ทรงอยู่ทั้งบ้านเช่าและบ้านพักอาจารย์ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ชีวิตเช่นนี้อยู่ ๑๖ ปีจึงมีที่ประทับส่วนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี พระราชทานทรัพย์ ซื้อที่ดินย่านพระรามหก เลียบคลองประปาสำหรับสร้างบ้านพัก

ชีวิตราชการ

ท่านจักรเข้ารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ ตำแหน่งเกษตรโท ผู้ช่วยประจำกองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กองเกษตรและการประมง พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษ ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนการเรือน, พ.ศ. ๒๔๘๒ ทรงสอบชิงทุนรัฐบาล ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างทำปริญญาเอกในปี พ.ส. ๒๔๘๕ รัฐบาลเรียกนักเรียนทุนกพ. กลับไทย ท่านจักรจึงกลับมารับตำแหน่งเดิม และเลื่อนตำแหน่งโดยลำดับ เช่น หัวหน้าแผนกพืชไร่ กองการทดลองและส่งเสริมการเกษตร, นักเกษตรเอก ประจำกรมเกษตร , รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , อธิบดีกรมการข้าว ทรงเป็นอธิบดีกรมการข้าวคนแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาแรกนาคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และ พ.ศ. ๒๕๐๔ , อธิบดีกรมกสิกรรม, คณบดี (กิติมศักดิ์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๑๒ ) ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลชั่วคราว ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ( พ.ศ. ๒๕๑๖ )

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์” ดำรงตำแหน่ง “องคมนตรี” , ในปีเดียวกัน ขณะดำรงตำแหน่งองคมนตรี ได้กราบบังคมทูลลาผนวช ณ วัดเทพศิรินทราวาส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณตัดพระเกศาพระราชทาน เพื่อเป็นสิริมงคลแด่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

ทั้งนี้ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภากวีโลก ได้ถวายปริญญา Doctor Of Literature แก่ท่านจักร และท่านจักรได้สนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 13ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

และเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและเฉลิมพระนาม จาก หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ”

ชีวิตครอบครัว

หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เสกสมรสครั้งแรกกับหม่อมวิภา เก่งระดมยิง(จักรพันธุ์ ณอ.) บุตรสาวของพลโทหลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) มีบุตรสาวด้วยกัน ๕ คน

พระธิดาคนโต “หม่อมราชวงศ์สุพินดา” ท่านจักรประทานสมญา “จุ๋ยกริ่ง” พี่เลี้ยงเรียก “คุณหญิงใหญ่” “ เกิดในเรือชื่อ Gripshalm ซึ่งขณะนั้นสงครามยังไม่สงบ เรือต้องแล่นฝ่าเรือรบของฝ่ายพันธมิตร คนไทยที่โดยสารมาจากสวีเดนมาในครั้งนั้นมีทั้งสิ้น ๑๔ คน แต่พอถึงเมืองไทย มีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคน คือ หญิงสุพินดา ที่เกิดในเรือใกล้ท่าเรือลอเรนโชมาเกซ

พระธิดาองค์ที่สอง “หม่อมราชวงศ์อรพรรณ” ท่านจักรประทานสมญา “จิ๋งกรุ่น” พี่เลี้ยงเรียก คุณหญิงเล็ก เกิดที่บ้านเช่า ใกล้กับม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ย่านมักกะสัน เป็นเด็กอ่อนแอ กินนมจะสำลักเป็นประจำ อุปนิสัยซื่อตรง พูดตรง ว่านอนสอนง่าย

พระธิดาองค์ที่สาม “หม่อมราชวงศ์จันทิรา” ท่านจักรประทานสมญา “จุ๋มกริ่ม” พี่เลี้ยงเรียก คุณหญิงแดง เพราะเมื่อเกิดตัวแดง เกิดที่บ้านกล้วย ซ. สันติสุข (สุขุมวิท ๓๘) ตอนนั้นอพยพภัยสงครามมาอยู่กับคุณหญิงฟองสมุทร มารดาของหม่อมวิภา นิสัยชอบคลานออกนอกเรือน เห็นใบไม้หรืออะไรก็หยิบเข้าปากหมด คล่องแคล่ว พูดเก่ง ฉลาด สายตาสั้นแต่เด็ก

พระธิดาองค์ที่สี่ “หม่อมราชวงศ์มาลินี” ท่านจักรประทานสมญา “จิ๋มกรุ่น” พี่เลี้ยงเรียก คุณหญิง เกิดที่บ้านเช่าถนนศรีอยุธยา หลังบ้านคุณหลวงอิงค์ น่ารัก น่าเอ็นดู ติดพี่เลี้ยง ชอบดูดหัวแม่มือเป็นประจำ

พระธิดาองค์ที่ห้า “หม่อมราชวงศ์เบญจาภา” ท่านจักรประทานสมญา “จุ๋นกรุ่ย” พี่เลี้ยงเรียก คุณหญิงน้อง ตัวเล็ก เลี้ยงง่าย เมื่อได้ยินเสียงดนตรีจะเคาะจังหวะได้ถูกต้อง

ท่านจักรเสกสมรสครั้งที่ ๒ กับ หม่อมประพาล รจนานนท์ (จักรพันธุ์ ณอ.) มีธิดาองค์เดียวคือ “หม่อมราชวงศ์เพ็ญศิริ” พี่ๆ ตั้งสมญา “หญิงหยอย” (แรกเกิดผมหยิกหยอย) พี่เลี้ยงเรียก คุณหญิง เป็นลูกสาวที่แม่ดูแล หลัง ๓ ขวบ ก็ขายบ้านหลังเดิม ไปปลูกใหม่ บนที่ดินมรดกของพ่อตา …

ผลงานด้านการเกษตร

ผลงานของท่านจักรในด้านวิชาการเกษตรมีให้เห็นตั้งแต่เป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตร หลังจบจากการศึกษาที่สิงคโปร์ GM Live เลือกมาเล่าเพียงบางส่วนในการทำงานของท่านเท่านั้น

เมื่อสมัยท่านผู้นำ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโนบายชักชวนให้ประชาชนทำการเพาะปลูกพืชพรรณผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์หลังบ้าน ขณะนั้นท่านทำงานที่กองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กระทรวงเกษตราธิการ จึงรับนโยบายจัดทำให้เป็นรูปธรรม สร้างบ้านตัวอย่างให้ประชาชนได้ชมกันที่ท้องสนามหลวง “ครบครันทั้ง การปลูกผัก สร้างคอกเลี้ยงสัตว์ คันคูส่งน้ำ ระบายน้ำ ครบจบที่เดียวบนพื้นที่ ๒๐๐ ตารางวา” ผลงานนี้เป็นความทรงจำของท่านจักรที่ไม่เคยลืม ได้รับคำชมจากท่านผู้นำเป็นอันมาก และ กิจกรรมนี้ ท่านได้นิพนธ์โครงบทหนึ่งว่า

ทำสวนครัวทั่วถ้วน ทิศทาง เถิดไทย

ขาดที่มีกระถางปลูกได้

โถถังตุ่มรังรางโอ่งอ่าง ไหเอย

กระบะกระชุครุใช้ปลูกสร้างสวนครัว

ความชำนาญในด้านกสิกรรมของท่านจักรเป็นที่ยอมรับ ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าท่านจะดำรงในตำแหน่งใด ก็จะทรงสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยปรีชาสามารถในการเจรจากับชาวต่างประเทศจนประสบความสำเร็จทุกครั้ง ประทานความรัก ความเมตตา ไม่ทรงลืมให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ถ่อมพระองค์ และทรงเป็นปูชนีนบุคคลที่น่าจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง

เมื่อปี พ.ศ . ๒๕๑๒ รัฐบาลเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกระทรวงเกษตรฯ จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ” ที่ฟาร์มสุวรรณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ท่านจักร ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนศูนย์ฯ มีความพร้อมและเข้มแข็ง

ในต่างประทศ ท่านจักร ทรงจัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเกษตรแห่งเอเชีย (AAACU) เพื่อกระชับและแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล และบุคคลากรทางวิชาการ ในภูมิภาคเอชีย ทำให้พระนาม M.C. CHAKRABANDHU ได้ปรากฎ ณ แผ่นเกียรติยศ จารึกชื่อในสถาบันหลายแห่ง จากใกล้จนไกลถึง CIMMYT ประเทศเมกซิโก และในการก่อตั้งสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ทรงอยู่ใน Board Of Trustee รุ่นก่อตั้งสถาบัน มีพระนามของท่านจักรจารึกอยู่บนแผ่นโลหะที่ตึกอำนวยการตราบจนทุกวันนี้

พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ท่านหนึ่ง เล่าว่า “ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นองคมนตรี ทรงมีพระราชกระแสว่า น่าจะเปลี่ยน “เขาค้อ” ที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว จากพื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยทรงแนะว่าให้ปรึกษา “ท่านจักร” ซึ่งทรงเป็นองคมนตรีอยู่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้พระองค์จักรและผมจึงได้ร่วมพัฒนา “เขาค้อ” ขึ้นมาจนเป็นพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมจนทุกวันนี้”

ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๑ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ มีกระแสรับสั่งกับท่านจักรให้ทรงศึกษาทำพันธุ์ข้าวโพดหวาน ,แคนตาลูปไม่มีเม็ด ด้วยทรงดำริว่าพันธุ์พืชเหล่านี้ คนไทยน่าจะทำเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ เริ่มทดลองครั้งแรก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสร้างข้าวโพดพันธุ์ “ฉัตรทอง” ต่อมาได้ทำพันธุ์แตงโมและแคนตาลูป ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้พันธุ์แตงโม 2 พันธุ์ คือ แตงโมเนื้อเหลือง พันธุ์ “ห้วยทองทราย F๑” , แตงโมเนื้อสีชพู พันธุ์ “ชมพูห้วยทราย F ๑ ” นอกจากนี้ ยังมีมะเขือเทศพันธุ์ “สีดาห้วยทราย”

นอกจากนี้ ท่านจักรยังเป็นผู้คิดค้น แตงโมไร้เมล็ด ดังที่ องคมนตรี พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ กล่าวว่า ทรงสนพระทัยการผสมพันธุ์พืชจากแตงโมที่มีเมล็ดจนกลายเป็นแตงโมที่ไร้เมล็ด”

ในหลวง ร. ครูแซกโซโฟน

หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ รับพระราชดำรัสจากสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ให้ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถึง ๒ ครั้ง และในครั้งที่ 2เป็นเวลานานถึง ๑ ปี ๔ เดือน ระหว่างที่ทรงประชวรด้วยพระอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา กรุงโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยท่านจักรประทับใจในช่วงนี้มาก เพราะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนท่านจักรเป่าแซกโฟโฟน และทรงสอนให้เป่าเสียงเดียวอยู่เป็นเวลานานเพื่อให้เสียงที่ออกมาคงที่ เมื่อพอพระทัย จึงสอนเป่าให้มีเสียงหนัก- เบา จากนั้นทรงสอนวิธีการเป่าโดยใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไป

ระหว่างนั้น คณะแพทย์ที่ทำการรักษา ได้กราบบังคมทูลงดเครื่องเป่าไว้ ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงดนตรี จึงดำรัสสั่งให้ท่านจักรเป็นผู้เป่า และทรงอ้อมพระกรมาโอบหลังท่านจักร และกดคีย์ด้วยพระองค์เอง

เสียงแซกโซโฟนดังถึงพระกรรณสมเด็จย่า ทรงตกพระทัยมาก รีบตามเสียงนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็นการเป่าแซกด้วยลีลาที่แหวกแนวของ “ครู-ศิษย์” ต่อมาทรงพระราชทาน แซกโซโฟน ให้ลูกศิษย์ได้ฝึกฝน ท่านจักร เรียก “ปี่พระราชทาน”

เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๙๔ มีการแสดงวงดนตรีวงใหญ่ ในวันประกาศผลการตัดสินประกวดการแข่งขันไข่ดกประจำปีของสมาคมผู้เลี้ยงไก่ จัดแสดงที่บริเวณห้อง ๕๐๐ และสนามหลังตึกสัตวบาล (ปัจจุบันคือ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) การบรรเลงเพลงวันนั้น ท่านจักรในฐานะรองอธิการบดี ทรงแบริโทน แซกโซโฟน และผู้ควบคุมวง นิสิตนักดนตรี ๕ คน นักร้อง ๘ คน นักดนตรีรับเชิญ ๓ ท่าน นักร้องรับเชิญ ๑ ท่าน ดังนั้น วันที่ ๘ กันยายนของทุกปี จึงถือเป็นวันกำเนิดวงดนตรีสากล ม.ก. หรือ KU Band

ปีต่อมา แม้จะมีความพร้อมในด้านสมาชิกนักร้อง-นักดนตรี แต่ยังขาดเครื่องดนตรีสำคัญอีกหลายชิ้น ท่านจักรได้ขอพระราชทานยืม Soprano Saxophone จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อพระองค์ทราบถึงปัญหาการขาดเครื่องดนตรี จึงทรงพระราชทาน Alto Saxophone และ Tenor Saxophone ให้ยืมอีก ๒ องค์

และในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านจักรได้นำเหล่าสมาชิก KU Band เข้าเฝ้าฯ ถวายตัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อบรรเลงดนตรีออกอากาศ สถานีวิทยุ อ.ส. ในการทดลองส่งกระจายเสียง ทุกวันศุกร์ เวลา ๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น.

นอกจากนี้ ท่านจักรยังถวายคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ถึง ๒๘ เพลง , เพลงที่นิพนธ์ด้วยพระองค์เองถึง ๖๘ เพลง และเพลงที่นิพนธ์ร่วมกับศิลปินอื่นอีก ๒๕ เพลง รวมทั้งสิ้น ๑๒๑เพลง

และ เพลงทุกคนต้องเคยได้ยิน นั่นคือ “รำวงชาวทะเล” …

เรื่อง : : นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก GM Live

‘Crayon Shin-Chan Adventure Park: สวนสาธารณะ ‘ชินจัง’ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น’

1 วันที่แล้ว

“Game, Set and Match” สู่ดีไซน์เหนือกาลเวลา

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

สายการบินแห่งชาติกัมพูชา เปิดเส้นทางนครเซินเจิ้น - นครวัด (เสียมราฐ) ชาวเน็ตไทยแซว “ดูคุ้นๆนะ!”

Manager Online

ไม่ธรรมดา ชุมชนท่องเที่ยวอพท.+เครือข่าย คว้า 6 รางวัลระดับนานาชาติ

Manager Online

ทำไมเรียก “พริกไทย” แล้วพริกอื่น ๆ ไม่ไทยหรือ?

ศิลปวัฒนธรรม

“ฉันปล่อยวางเก่ง ฉันเป็นคนประเภทที่เชื่อสุดใจเลยว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลเสมอ” Julia Garner

THE STANDARD

“ภาษีโสเภณี” หลักฐานการมีอยู่ของ “โสเภณี” ถูกกฎหมายในสยาม

ศิลปวัฒนธรรม

สมัยพุทธกาล ภิกษุณี 2 รูป ถูกชายชั่วชวน "สังวาส"

ศิลปวัฒนธรรม

กิน 80 ออกกำลังกาย 20 ทริคสร้างเอวสับง่ายๆ ไม่หนัก ไม่เหนื่อยเกินไป

SistaCafe

โลกมันโหดก็แค่หัดมีความสุขไอสัตว์! ปรัชญาปลากระเบนวิถี ‘Srirajah Rockers’

a day magazine

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...