นักวิชาการผวา สินค้าเกษตรUS ทะลักตลาดไทย
“เพื่อไทย” ตีปี๊บไทยได้เรตภาษีสหรัฐต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยภูมิภาคแน่ ฟุ้งมีมาตรการเยียวยารองรับแล้ว “อนุสรณ์” ผวาสินค้าเกษตรมะกันทะลักไทย ซ้ำเติมสินค้าจีนที่มีมากอยู่แล้ว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ค. นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงถึงการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐอเมริกาว่า พรรคขอให้กำลังใจทีมไทยแลนด์ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ และเชื่อว่าการเจรจาที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดี คาดว่าอัตราภาษีน่าจะอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยการเจรจานี้จะดำเนินต่อไปก่อนวันที่ 1 ส.ค. ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
“พรรคเพื่อไทยขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลได้ติดตามและดูแลผลกระทบจากการเจรจาภาษีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าไทย และได้ชั่งน้ำหนัก ประเมินความเสี่ยงในทุกด้าน พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยาไว้แล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว”
ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดภาษีนำเข้า 0% สินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และเปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ อาจทำให้มีการลดกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐลงมาใกล้เคียงกับประเทศอาเซียน อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียได้ ทำให้ลดความรุนแรงของภาษีตอบโต้ทางการค้าที่ระดับ 36% และทำให้ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะลดลงมาได้ไม่ต่ำกว่า 9-10 เท่า โดยหากไทยไม่ได้ลดภาษีจาก 36% จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยสูญเสียหลายแสนล้านบาทในระยะยาว
รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า การเปิดตลาดให้สหรัฐด้วยการลดภาษีนำเข้า 0% อาจสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการผลิตภายในที่ปรับตัวไม่ได้แข่งขันไม่ได้ และตลาดแรงงาน ซึ่งอาจเกิดปัญหาใหญ่กว่าหากไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบให้ดี เพราะสินค้าสหรัฐจะทะลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาจเพิ่มกว่า 100% กระทบผู้ผลิตภายในรุนแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่ผู้ผลิตภายในต้องเผชิญสินค้าทุ่มตลาดจากจีนอยู่แล้ว
“ผลกระทบของภาษีทรัมป์ต่อตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมยังไม่รุนแรง และยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัด โอกาสเกิดวิกฤตการจ้างงานเกิดขึ้นในเพียง 4 สาขา คือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรม และกิจการบริการอาหาร”
รศ.ดร.อนุสรณ์ย้ำว่า การเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน ดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะจากรายงาน OECD, ADB และ BOI รวบรวมโดยศูนย์วิจัย DEIIT ได้ชี้ถึงข้อจำกัดของระบบแรงงานไทย ดังนี้ 1.ทักษะไม่ตรงความต้องการตลาด 2.ระบบการฝึกอบรมยังไม่ทันสมัย 3.ขาดการรับรองทักษะในระดับสากล และ 4.ไม่มีระบบคาดการณ์ทักษะแรงงานล่วงหน้า จึงควรแก้เรื่องดังกล่าวทั้งการยกระดับ สร้างระบบฝึกอบรมแรงงานเพื่อรับรองทักษะสากล รวมทั้งมีระบบข้อมูล.