"รมว.นฤมล" ลั่น 3 เดือนแก้หนี้ครูได้ ดึงแบงก์รัฐทุ่มแสนล้านทำสหกรณ์กลาง สกสค.
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.68 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ประชุมตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมธัชมุนี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายวิทยา เขียวรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ,นายณัฐวุฒิ รัตนอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู นักเรียน และ สส.พรรคกล้าธรรมอาทิ นายก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ส.ส. เขต8 นครศรีธรรมราช นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อให้การต้อนรับ
ศ.ดร.นฤมล กล่าวตอนหนึ่งว่า ก่อนจะจัดทำนโยบาย ต้องการที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจะได้ร่างนโยบายมาจากความต้องการพัฒนาการศึกษาจริง ๆ จากทุกภาคส่วน โดยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนและพัฒนางานด้านการศึกษา 4 เรื่องหลักดังที่เคยกล่าวไปแล้ว ทั้งในส่วนของการปรับให้วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมือง เป็นวิชาหลักและจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจหน้าที่ตัวเอง ในระบอบปกครองของประเทศ ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ให้ครูได้มีเวลาพัฒนางานของตนเอง และมุ่งสอนลูกศิษย์ให้มากยิ่งขึ้น
“ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขณะนี้กำลังเดินหน้าหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และลดดอกเบี้ย เพื่อให้ครูมีสภาพคล่องมากขึ้น แต่จะต้องมีเงื่อนไขกับครูข้อหนึ่งว่า จะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มอีก มิเช่นนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะไม่ตรงจุด ในขณะเดียวกัน ก็จะปรับปรุงระบบสวัสดิการของครู เช่นค่าที่พักอาศัย ค่าเบี้ยเลี้ยง ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้ครูมีรายได้เพิ่ม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข”ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวต่อว่า วิทยฐานะถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กร แม้ระบบการประเมิน ในปัจจุบันจะมีข้อดี ที่มีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีเสียงสะท้อนออกมาว่า มีผู้ผ่านการประเมินน้อยลง ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การประเมินวิทยฐานะง่ายขึ้น แต่อยากให้ผู้ที่เข้ามาประเมินวิทยฐานะครู และบุคลากรทางการศึกษามีความเข้าใจงานด้านการศึกษาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ ก.ค.ศ. ก็รับโจทก์ไปดำเนินการ เพราะการที่ครูมีวิทยฐานะสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจแต่หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การลดภาระเรื่องของค่าครองชีพ
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ปัจจุบันมีหนี้อยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่ยังเป็นข้าราชการประจำการ และผู้ที่เกษียณอายุราขการไปแล้ว ซึ่งตนได้มีการหารือกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการก่อตั้ง สหกรณ์กลางให้ครู ที่เป็นหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ สมัครใจจะแก้หนี้ โอนหนี้เข้ามาที่สหกรณ์กลาง ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นที่ 0% ปีที่ 2 ขยับขึ้นตามขั้น บันได แต่จบที่ไม่เกิน 4.5% ก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระครู ซึ่งปัจจุบันครูจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.5% โดยมีเงื่อนไขว่าครูจะต้องไม่ไปก่อหนี้ที่ไหนอีก ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มสวัสดิการทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ให้ครูด้วย มิฉะนั้นไม่ว่าจะแยกหนี้อย่างไร ก็ไม่พอต่อการครองชีพหรือคุณภาพชีวิตครูให้ดีขึ้น
“วันที่ 22 ก.ค.นี้ ดิฉันจะหารือกับ สกสค.,กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ สกสค. สามารถจัดตั้งสหกรณ์กลางได้ ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุนก็ไม่มีปัญหา เพราะได้เจรจาเป็นการภายในกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินทุนก้อนแรก ประมาณ 1 แสนล้านบาท มาตั้งธนาคารกลางมาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครู ที่มีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ กว่า 9 แสนล้านบาท และถ้ามีความต้องการจนเต็ม 1 แสนล้านบาท คิดว่าจะขอความกรุณาจากรัฐบาล นำเงินทุนที่ไม่ใช่แบงก์ของรัฐ แต่เป็นเงินจากกองทุนที่มีอยู่ของรัฐบาล เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็ดบำนาญข้าราชการ(กบข.) มาช่วย แต่ก็ต้องไปดูระเบียบข้อบังคับ ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 3 เดือนนี้ น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมและประกาศให้ครูลงทะเบียนได้”
นอกจากนี้ ศ.ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมเด็กนักเรียน ทุกคนมีความสามารถและมีความภาคภูมิใจในการเป็นนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้ เห็นได้จากสายตาของนักเรียนที่นำเสนอสผลงานต่าง ๆ พร้อมขอบคุณผู้บริหาร คณะครู ที่มาร่วมประชุม ณ ที่นี้ หากใครมีข้อเสนอแนะดี ๆ สามารถส่งมาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ เพื่อรวบรวม สรุป และกลั่นกรองแต่ละเรื่อง นำไปสู่การขับเคลื่อนผลักดันและปฏิรูปการศึกษาของนครศรีธรรมราช ทั้งในส่วนของประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และอื่น ๆ ต่อไป