จีนสั่งปิดสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ‘ไห่หนาน-กว่างตง’ เตรียมรับมือไต้ฝุ่นวิภา
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
กว่างโจว, 20 ก.ค. (ซินหัว) — มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) และกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีนประกาศเตือนภัยระดับสูงสืบเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นวิภา ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 6 ของปีนี้ โดยคาดว่าพายุลูกนี้จะพัดขึ้นบกตามแนวชายฝั่ง ช่วงบ่ายหรือเย็นของวันอาทิตย์ (20 ก.ค.)
เมื่อเวลา 7.00 น. ของวันอาทิตย์ ศูนย์กลางพายุไต้ฝุ่นวิภาอยู่ที่ละติจูดเหนือ 21.7 องศา และลองจิจูดตะวันออก 114.9 องศา โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางที่ 33 เมตรต่อวินาที หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของจีนคาดการณ์ว่า พายุจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะทวีกำลังขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นเมืองจูไห่ คาดการณ์ว่านครจูไห่ในมณฑลกว่างตง จะมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก ทางการจึงได้ยกระดับการแจ้งเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นเป็นระดับสีแดง (รุนแรงที่สุด) และยกระดับการรับมือเหตุฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์พายุสู่ระดับ 1 (ระดับสูงสุด) เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันอาทิตย์
มีการสั่งปิดสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ชั่วคราว เพื่อรับมือสถานการณ์พายุ โดยด่านศุลกากรฝั่งขาออกของท่าเรือจูไห่ระงับการให้บริการเมื่อเวลา 2.30 น. ก่อนที่สะพานหลักจะถูกสั่งปิดในเวลา 3.30 น. นอกจากนี้ มีการสั่งระงับการเรียนการสอนในโรงเรียน การคมนาคมขนส่ง และกิจกรรมทางธุรกิจในจูไห่ทั้งหมด โดยหน่วยงานภาครัฐขอให้ประชาชนอยู่ภายในที่พักอาศัยเพื่อความปลอดภัย
ด้านหน่วยงานการจัดการภาวะฉุกเฉินมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ระบุว่า เมื่อเวลา 8.30 น. ของวันอาทิตย์ มณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ของจีน ได้ยกระดับการรับมืออุทกภัยและพายุไต้ฝุ่นจากระดับ 4 สู่ระดับ 3 เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากลมกระโชกและพายุฝนรุนแรง ระหว่างวันอาทิตย์ (20 ก.ค.) ถึงวันอังคาร (22 ก.ค.) ขณะที่ในนครไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑล หลายหน่วยงานก็กำลังดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น
เมื่อวันเสาร์ (19 ก.ค.) สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีนได้ออกประกาศเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นวิภาระดับสีเหลือง หน่วยงานด้านกิจการทางทะเลของจีนได้ทำการตรวจสอบน่านน้ำที่ได้รับผลกระทบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการเฝ้าระวังเรือแบบเรียลไทม์ และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบภาคสนาม หน่วยงานด้านการจัดการน้ำได้จัดตั้งทีมระบายน้ำ เพื่อตรวจสอบและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงเปิดฝาท่อระบายน้ำล่วงหน้าเพื่อเร่งการระบายน้ำ และติดตั้งป้ายเตือนภัย ส่วนหน่วยงานด้านพลังงานได้จัดเตรียมรถซ่อมบำรุงประจำการในพื้นที่สำคัญๆ พร้อมทั้งใช้แผนฉุกเฉินสำหรับการสำรองพืชผักเพื่อรับประกันว่าตลาดจะไม่ขาดแคลนสินค้า
ทั้งนี้ ระบบรับมือเหตุฉุกเฉินของจีนแบ่งเป็น 4 ระดับ โดยระดับ 1 ถือว่ารุนแรงที่สุด ส่วนระบบเตือนสภาพอากาศของจีนแบ่งเป็น 4 ระดับ 4 สี โดยสีแดงหมายถึงความรุนแรงสูงสุด ตามด้วยสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงิน