“กอบศักดิ์” ประเมินส่งออก-เกษตรไปต่อได้ หากไทยโดนภาษีทรัมป์ 25%
กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – “กอบศักดิ์” เผยตลาดจับตาสัปดาห์สุดท้ายก่อนเส้นตาย 1 ส.ค. ประเมินส่งออก-เกษตรไปต่อได้ หากไทยโดนภาษีทรัมป์ 25% เชื่อไทยเจรจาได้ มองตลาดหุ้นยังมีหวัง ชี้เงินบาทแข็งตามดอลล่าร์ที่อ่อนค่า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO )กล่าวในการบรรยายโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน“ ถึงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯยอมรับว่ามีความกังวล เพราะเหลือเวลาอีก 6 วัน จะครบกำหนด 1 ส.ค. 2568 ในกรณีเลวร้ายที่สุดหากไทยโดนเก็บภาษีในอัตราที่ 36% จะส่งผลกระทบหนักโดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 60% ไทยจะไม่มีรายได้ในอนาคตและจะส่งผลกระทบระยะยาว อีกทั้งคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ อินโดนิเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สามารถปิดดีลอัตราภาษีที่ 15-20% จะส่งผลทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบริษัทหลายแห่งที่กำลังมองหาประเทศที่ลงทุน ซึ่งมีเวียดนาม อินโดนิเซีย ไทย หากไทยโดนเก็บภาษี สหรัฐฯ ในอัตราที่ 36% นักลงทุนคงไม่มองประเทศไทยเพราะมีภาษีที่แตกต่างกว่า 16%
หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% มองว่าเอกชนสามารถยอมรับได้ แม้จะสูงกว่าประเทศอื่น ๆ 5% แต่เอกชนสามารถปรับตัวได้ และสามารถปกป้องภาคเกษตรกรรมได้ แม้จะส่งผลกระทบต่ออุตสหกรรมการเกษตรบางส่วน แต่ส่งออกยังไปต่อได้ในระยะยาว
สำหรับ งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่รัฐเตรียมไว้รองรับผลกระทบภาษีสหรัฐฯ เพื่อเยียวผู้ผู้ประกอบการส่งออก มองว่าเพียงพอ ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนเพื่อรองรับผลกระทบ วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาภาคการเกษตรคาดว่าไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครึ่งปีแรก (ม.ค. – พ.ค. ) มีตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่งคำขอเข้า มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เทียบเท่ามูลค่าคำขอของทั้งปี 2567 ทั้งปี แต่ยังไม่ตัดสินใจลงทุน โดยการตัดสินใจลงทุนตอนนี้ขึ้นอยู่กับภาษีสหรัฐฯ หากไทยได้ภาษีไม่ต่างจากประเทศในภูมิภาคมากนักลงทุนอาจจะลงทุนที่ไทยตามคำขอ BOI
สำหรับตลาดหุ้น ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนประกาศตัวเลขภาษี มองว่ายังมีความหวัง โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตลาดหุ้นดีดขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่าญี่ปุ่นสามารถเจรจาได้ ขณะเดียวกัน ไทยกำลังทำข้อตกลงใหม่ๆ ในการเจรจากับสหรัฐ แต่ยอมรับว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เริ่มคับขันขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศตัวเลข ตลาดเองก็จะเริ่มกังวลใจ จึงต้องรอติดตาม ซึ่งคาดหวังว่าจะได้คำตอบในวันที่ 1 ส.ค.นี้
นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในรอบ 4 ปี ว่าส่วนใหญ่มาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงโดยมูลค่าเงินดอลลาร์ปรับลงจากดัชนีที่ 110 สู่ระดับที่ 97-96 ถือว่าลดลงมาเกือบ 13-14% จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจว่าค่าเงินบาท ที่เคยอยู่ในระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์ กำลังเคลื่อนไหวในระดับ 32 บาท/ดอลล่าร์ และเป็นอัตราที่แข็งค่าที่สุดในรอบหลายปี ทำให้นักลงทุนหันไปทางสินทรัพย์อื่น อาทิ ทองคำ Digital asset เช่น บิทคอยน์ รวมถึงเงินสกุลอื่นๆ เช่น ยูโร และเงินเยน เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม มองว่า สหรัฐฯ ตั้งใจใช้นโยบายทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งอาจทำให้ในอนาคตไทยอาจมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่ากว่านี้ และจะกระทบต่อภาคส่งออก ท่องเที่ยว เงินลงทุน โดยตรง.-516-สำนักข่าวไทย