รมช.สาธารณสุข สั่งจัดรถโมบายสโตรคยูนิตเสริมทีมเยียวยาจิตใจ-การแพทย์ที่ศูนย์พักพิงชายแดน
“รมช.สาธารณสุข -ชัยชนะ" สั่งการจัดรถโมบายสโตรคยูนิต พร้อมบริการที่ศูนย์พักพิง ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี เสริมทัพทีมเยียวยาจิตใจและบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน เยี่ยมเยียนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
ในช่วงบ่าย รมช.สาธารณสุข ได้เดินทางไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราววัดสระเยาว์ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามระบบการจัดการที่พักพิง การจัดบริการสาธารณสุขเบื้องต้น และประเมินความมั่นคงด้านจิตใจของประชาชนที่อพยพมายังพื้นที่ปลอดภัย ท่านได้มอบนโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด และย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารเพื่อลดความตระหนกในสถานการณ์
หลังเสร็จสิ้นภารกิจในจังหวัดศรีสะเกษ คณะของ รมช.สาธารณสุข ได้เดินทางต่อไปยังอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้เยี่ยมศูนย์พักพิงสำหรับผู้เปราะบางที่ถูกย้ายมาจากอำเภอน้ำยืนและ อำเภอน้ำขุ่น มายังศูนย์พักพิงที่ว่าการอำเภอเดชอุดม และศูนย์พักพิงโรงเรียนบ้านแขมเจริญ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์ธนกร ชมาฤกษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีรัตนะ ได้รายงานถึงความพร้อมของโรงพยาบาลในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีรัตนะ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด F1 สามารถขยายการรองรับผู้ป่วยจาก 120 เตียงเป็น 150 เตียงในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปัจจุบันมีผู้ขออพยพเข้ารับการพักพิงในศูนย์พักพิงอำเภอศรีรัตนะรวม 2,883 คน กระจายอยู่ใน 8 ศูนย์หลัก อาทิ วัดบ้านไฮ วัดป่าศรีสว่าง วัดบ้านจอก และวัดสระเยาว์ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง
ในด้านความพร้อมทางการแพทย์ โรงพยาบาลศรีรัตนะมีเวชภัณฑ์ยาฉุกเฉินและยาสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพียงพอ และมีการประสานคลังยาร่วมกับโรงพยาบาลกันทรลักษ์ สำหรับระบบสำรองโลหิตในภาพรวมของจังหวัดศรีสะเกษมีศูนย์รับบริจาคโลหิต 9 ศูนย์ที่พร้อมสนับสนุนการส่งต่อโลหิตได้อย่างทันท่วงที
นายชัยชนะ รมช.สธ. ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต โดยนายแพทย์กิตติมศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำทีม MCATT (ทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต) ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 22 ทีม รวม 648 คน ลงพื้นที่ทุกแห่งในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราววัดสระเยาว์ อำเภอศรีรัตนะ ซึ่งมีผู้อพยพ 548 คน ทีม MCATT 12 คน ได้ปฏิบัติงานประจำจุดและจากการประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ (MENTAL HEALTH CHECK IN) ของผู้อพยพ 512 คน พบภาวะ Burn out ในชีวิต 1 ราย (5%) และเครียดสูง 1 ราย (จาก 20 รายที่ประเมิน) ไม่พบความเสี่ยงสุขภาพจิตอื่น ๆ และอยู่ระหว่างการประเมินเพิ่มเติม
นอกจากนี้ รมช.สาธารณสุข ยังได้ประสาน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดนำรถฟอกไตเคลื่อนที่จำนวน 1 คัน มาประจำจุดที่โรงพยาบาลเดชอุดม เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคไตที่ศูนย์พักพิงที่ว่าการอำเภอเดชอุดม โดยรถฟอกไตเคลื่อนที่เป็นนวัตกรรมต้นแบบคันแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน รองรับการฟอกไตสูงสุด 3 รอบต่อวัน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการแก่ผู้ป่วย
ที่สำคัญยิ่งคือ การประสานให้จัดหารถโมบายสโตรคยูนิต (Mobile Stroke Unit) จำนวน 2 คัน มาประจำที่โรงพยาบาลขุขันธ์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และที่ โรงพยาบาลเดชอุดม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีอีก แห่งละ 1 คัน เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รถดังกล่าวติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่สามารถสแกนสมองผู้ป่วยร่วมกับใช้ระบบปรึกษาทางไกลผ่านโครงข่ายไร้สายความเร็วสูง 4G/5G เพื่อสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตัดสินใจให้ยาสลายลิ่มเลือดบนรถได้ทันที รวมถึงสามารถฉีดสารทึบแสงเพื่อประเมินหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและให้การวินิจฉัยที่แม่นยำ ลดขั้นตอนการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลให้สั้นลง ส่งผลให้ลดอัตราความพิการและการเสียชีวิต รวมถึงลดค่าใช้จ่ายของกองทุนสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่พิการในระยะยาว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณทีมแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ชายแดนจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง