ชำแหละค่าไฟไทยแพงเพราะอะไร การซื้อไฟเอกชนแบบลับ-ลวง-พราง
“ค่าไฟ” ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพหลักที่ประชาชนต้องจ่ายทุกเดือน โดยประเด็นสำคัญมากไปกว่านั้นที่ถูกวิพากวิจารณ์ตลอดก็คือ ราคาที่ต้องจ่ายซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ล่าสุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์หัวข้อ Behind the Bill : เปิดพรมบิลค่าไฟ – กลไกเงียบที่ทำให้โรงงานไฟฟ้าเอกชนกำไรหมื่นล้าน เกี่ยวกับปัญหา และต้นทุนค่าไฟว่า ค่าไฟไทยมีเชื้อเพลิงหลักที่มีต้นทุนหลากหลาย ประกอบด้วย
ไทยใช้ก๊าซประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ผลิตเองจากอ่าวไทย (แก๊สอ่าว): ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน (เป็นส่วนที่ราคาถูกที่สุด)
นำเข้าจากพม่า: ประมาณ 600-700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน (ราคาสูงขึ้นมาเล็กน้อย)
นำเข้าในรูป LNG (Liquefied Natural Gas): ส่วนที่เหลือประมาณ 1,700-1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน (ราคาแพงที่สุด เนื่องจากเป็นราคาตลาดโลกและมีต้นทุนการขนส่ง/เปลี่ยนสถานะ)
ระบบ Pool Gas
- ก๊าซทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันในระบบ pool Gas เพื่อหา ราคาเฉลี่ย (เรียกว่า Pool Price หรือ Gas Pool Price)
- แม้แก๊สจากอ่าวไทยจะมีต้นทุนต่ำ (ประมาณ 200 กว่าบาท) แต่เมื่อรวมกับ LNG ที่แพงกว่ามาก ทำให้ราคาเฉลี่ยของก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 320 กว่าบาท
“กำลังดำเนินการปรับโครงสร้าง Pool Gas โดยแยกส่วนของแก๊สอ่าวไทยที่ราคาถูก ไปใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในชั้นนี้”
พลังงานหมุนเวียน ทางเลือกที่สะอาดแต่ยังไม่เสถียร
- ประเภทของพลังงานหมุนเวียน: ได้แก่ แสงแดด (โซลาร์), ลม, น้ำ (เขื่อน), ชีวมวล (ขยะ, เศษใบไม้)
- ข้อดี: เป็นพลังงานสะอาด (Green Energy) ไม่มีคาร์บอน
- • ข้อจำกัด คือความไม่เสถียร: ไม่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง (เช่น แดดมีแค่กลางวัน, ลมไม่สม่ำเสมอ) ทำให้ต้องพึ่งพาระบบแบตเตอรี่เสริม ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง
นายพีระพันธุ์ ระบุอีกว่า ไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและชีวมวลสูง แต่ลมและน้ำอาจไม่เพียงพอ ส่วนแนวทางการลดต้นทุนควรพิจารณาสูตรการผลิตไฟฟ้าโดยเน้นพลังงานแสงแดดและชีวมวลที่ไทยมีศักยภาพ รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศในราคาถูก เพื่อลดสัดส่วนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสงสัยและต้องฉุกคิดก็คือ เหตุใดต้องซื้อไฟจากเอกชน ทั้งที่ภาครัฐ (กฟผ.) ก็สามารถผลิตเองได้ ขณะที่ต้นตอของปัญหานั้น มองว่า เป็นผลมาจากแผน PDP หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ที่อนุมัติในอดีต
รวมถึงปัญหา Take or Pay ซึ่งเป็นรูปแบบสัญญาที่ระบุว่า ไม่ว่าจะผลิตเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ หรือต้องรับซื้อตามที่ตกลงไว้ ไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุน แม้บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณนั้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่โปร่งใส โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นความลับทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ แม้แต่รมว.พลังงานก็ไม่สามารถขอดูสัญญาได้ ด้านกฎหมายก็ล้าสมัย โดยกฎหมาย กฟผ. ที่ใช้ในการเซ็นสัญญากับเอกชนยังเป็นปี 2511 ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนโครงสร้างการดูแลไฟฟ้าในปัจจุบันก็ซับซ้อนและไร้อำนาจเบ็ดเสร็จ มี
ผู้ผลิตคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นหลัก และภาคเอกชน ผู้จำหน่ายคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกฟภ. ในต่างจังหวัด) และการไฟฟ้านครหลวง หรือกฟน. (MEA) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่กระทรวงพลังงาน ทำให้ขาดการควบคุมเบ็ดเสร็จ
ผู้กำหนดนโยบายและราคา คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. เป็นผู้กำหนดค่าไฟ) และมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำกับนโยบาย ซึ่งมีอำนาจและมีสูตรการคำนวณของตนเอง
ส่วน รมว. พลังงานไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการลดค่าไฟโดยตรง และพบความซับซ้อนในระบบ รวมถึงสัญญาที่ผูกมัดจากอดีต ซึ่งเป็นปัญหาที่พยายามแก้ไขมาโดยตลอด