พาณิชย์ ยันไม่มีดีลตั้งฐานทัพ เน้นเจรจาการค้าลดภาษีเพียงเดียว
วันนี้ (15 ก.ค.2568) นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขขอใช้พื้นที่ฐานทัพเรือพังงาเป็นฐานทัพปฏิบัติการทางเรือ เพื่อหวังแลกดีล-เจรจากำแพงภาษีตอบโต้ 36 % วันที่ 1 ส.ค.นั้น จากการหารือกับทูตสหรัฐฯ เมื่อวาน( 14 ก.ค.2568) ยืนยันว่า การเจรจาภาษีทรัมป์จะเป็นการเจรจาเฉพาะประเด็นเรื่องการค้าอย่างเดียว ไม่มีเรื่องของความมั่นคงของประเทศมาเกี่ยวข้อง
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์” รมช.พาณิชย์
ดังนั้นเงื่อนไขที่สหรัฐฯจะมาตั้งฐานทัพที่ไทยไม่เป็นความจริง นอกจากนี้กระทรวงยังมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของข้อมูลให้กับทีมไทยแลนด์ ซึ่งมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกและรมว.คลังที่เป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์ในการไปเจรจา 3 ส่วน ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้าและการเปิดตลาดต่างๆ 2. การกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจา และ3.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับเรื่องแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า ที่ไทยต้องเข้มงวดการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) และสหรัฐฯให้ความสำคัญมากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเร่งจัดทำมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มข้น เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในประเทศที่ถูกต้อง ชัดเจน น่าเชื่อถือได้ เพื่อใช้ประกอบการเจรจากับสหรัฐฯ โดยขณะนี้ ได้ขอข้อมูลสัดส่วนการใช้ Local content จากภาคอุตสาหกรรมมาแล้ว และพบว่า มี 10-15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยกว่าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ สหรัฐฯได้กำหนดการใช้ Local content สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.วัตถุดิบของไทย, วัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯมาผลิตเป็นสินค้าส่งออก และวัตถุดิบจากประเทศพันธมิตร ที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่าไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศ/ภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) 2.วัตถุดิบจากจีน และ3.วัตถุดิบจากประเทศอื่น ที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งไทยต้องพิจารณาการใช้สัดส่วนวัตถุดิบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
ได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชน ในการขอข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมาเกือบครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว ว่ากลุ่มไหนบ้างใช้วัตถุดิบจากจีน และมีความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการจากสหรัฐฯมีประมาณ 10-15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามอยากให้คนไทยอย่ากังวลกับการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ และมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จและมีทิศทางที่ดี และเป็นประโยชน์กับประเทศแน่นอน แม้ว่าหลายอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลจะพยายามยึดหลักประโยชน์ของประเทศและหลักความสมดุลของการค้ากับทุกกลุ่มประเทศที่ไทยทำการค้าด้วยโดยไม่เอียงไปประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการค้ากับจีน ไทยจะไม่ผลักจีนออกจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานของไทย เพราะไทยกับจีนมีความสัมพันธ์การค้ามายาวนานเช่นเดียวกับสหรัฐฯและประเทศคู่ค้าอื่นๆด้วย
ส่วนกรณีที่มีการเปิดเสรีสินค้านำเข้าให้สหรัฐ 0% ซึ่งมีการเสนอไป90%ของรายการสินค้า หรือ 10,000 พิกัดรายการ โดยเป็นสินค้าที่ขายกันทั่วโลกและเป็นสินค้าสินค้าที่ไทยเปิดเสรีกับประเทศอื่นด้วย ส่วนอีก 10% รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้กระทรวงยืนยันว่าจะดูอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรหรืออุตสาหกรรมเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ในช่วง 5 โมงเย็นของวันนี้ (15 ก.ค.2568) ทีมเจรจาของกระทรวงพาณิย์ จะเข้าประชุมร่วมกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกและรมว.คลัง ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์ เพื่อเตรียมข้อมูลเจรจาภาษีทรัมป์ ที่กระทรวงการคลัง และมั่นใจว่าข้อเสนอล่าสุดของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศมีความครบถ้วนแล้วจะใช้เป็นข้อมูลเพื่อส่งให้กับทางสหรัฐฯต่อไป
อ่านข่าว:
หวั่นเสียโอกาส 47 อุตฯ 11 คลัสเตอร์ยื่นคลังเจรจาลดภาษีสหรัฐฯ