ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอน การเมืองในประเทศ
ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง สั่ง “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฮุน เซน
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 32.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/6) ที่ระดับ 32.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยช่วงกลางคืนที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ระดับ 96.50 เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรา สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันจากความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐอาจเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณ
รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกัยข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งนักลงทุนต่างจับตาการลงมติร่างกฎหมายการปรับลดภาษีและการใช้จ่ายขนานใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวุฒิสภา โดยหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เพื่อให้การอนุมัติต่อไป ก่อนที่จะส่งทรัมป์ลงนามเป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า การปรับลดอัตราภาษีครั้งใหม่จะทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.2 ล้านล้านดอลลาร์
ทรมป์กดดันเฟดลดดอกเบี้ย
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า หลังทรัมป์กดดันเฟดให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยได้ส่งรายการอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกให้กับเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด พร้อมเขียนข้อความด้วยลายมือตนเองกำกับไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ควรจะอยู่ระหว่าง 0.5% ของญี่ปุ่นและ 1.75% ของเดนมาร์ก และบอกพาวเวลล์ว่า “ช้าไปอีกตามเคย”
โดยนักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไป ในส่วนของข้อตกลงทางการค้า ทางสหราชอาณาจักรและสหรัฐเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันแล้วในวันจันทร์ที่ผ่านมา (30/6) ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากสหราชอาณาจักรลงจากระดับ 25% สู่ระดับ 10% ขณะเดียวกัน สหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงในการเร่งรัดการส่งออกแร่หายากจากจีนมายังสหรัฐ ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค.
ปัจจัยการเมืองในประเทศ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (1/7) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมปรึกษาคดีที่นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ยื่นคำร้องของ 36 สว.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ รวมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย จากกรณีคลิปเสียงสนทนาเรื่องข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชากับสมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
ซึ่งล่าสุดเมื่อเวลา 13.10 ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็ว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (4) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
ซึ่งคำขอให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น มีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี นับแต่วันที่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ ส่งผลให้ค่าเงินบาทขณะนั้นปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับแนวต้านที่ 32.60 ทันทีหลังการประกาศผลพิจารณาคดีดังกล่าว ก่อนที่จะร่วงลงสู่ระดับเดิมอีกครั้ง
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.40-32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 1.1796/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/6) ที่ระดับ 1.1719/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวานนี้ (30/6) คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนจะยังคงเป็นลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจโลกต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อมีความผันผวนมากขึ้น และจำเป็นที่ ECB จะต้องดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่ใกล้เคียงเป้าหมาย
และยังอธิบายเพิ่มเติมในการประชุม ECB Forum on Central Banking ว่า โลกในภายภาคหน้ามีความไม่แน่นอนมากขึ้น และความไม่แน่นอนนั้นมีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อผันผวนมากขึ้น
นอกจากนั้น ECB ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งสรุปว่า หากเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมาย 2% อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำเกินไปก็ตาม ก็จำเป็นต้องมีนโยบายที่ “เข้มแข็งหรือต่อเนื่องอย่างเหมาะสม” เพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตของราคาจะกลับมาสู่เป้าหมาย ซึ่งลาการ์ดยังย้ำว่า การจัดการกับภาวะเงินเฟ้อต่ำเกินไปตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดระยะเวลาที่ ECB ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นพิเศษ
โดย ณ ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งตรงตามเป้าหมายของ ECB พอดี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1766-1.1807 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1822/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 143.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/6) ที่ระดับ 144.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าล่าสุด โบรกเกอร์ของทางญี่ปุ่นระบุว่า บรรยากาศการลงทุนของญี่ปุ่นซบเซาลงหลังจากทรัมป์แสดงความไม่พอใจเมื่อวานนี้ (30/6) ว่า ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากอเมริกาไม่มากพอ ซึ่งยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับการเจรจาภาษีระหว่างสองประเทศที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นหลังปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการ
อย่างไรก็ตาม โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นย้ำจุดยืนในวันนี้ (1/7) ว่า ญี่ปุ่นจะไม่เสียสละภาคการเกษตรของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องล่าสุดของทรัมป์ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากสหรัฐมากขึ้น และกล่าวในการแถลงข่าวว่า “เราไม่มีความตั้งใจจะประนีประนอมกับอะไรก็ตามที่จะส่งผลเสียต่อภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นในการเจรจาในอนาคต” ซึ่งทิศทางดูต่างจากเจรจาเรื่องภาษีของสหรัฐ กับประเทศอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางที่ดี
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.92-143.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 142.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จากสถาบัน ADP ของสหรัฐ (2/7), ดัชนี PMI รวมจาก S&P Global ของยูโรโซน (3/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (3/7), อัตราว่างงานเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (3/7), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (3/7), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (3/7), และดัชนี PMI ภาคการบริการจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) ของสหรัฐ (3/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.9/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.0/-5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอน การเมืองในประเทศ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net