ตลาดหุ้นใต้ศึกขัดแย้งไทย-กัมพูชา จับตาภาษีสหรัฐ เสี่ยงระยะสั้นหรือโอกาสลงทุน?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์นี้นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งเข้าสู่วันที่ 4 ของการปะทะอย่างต่อเนื่อง และเส้นตายมาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 นี้
แม้ความตึงเครียดจะยังอยู่ในระดับควบคุม แต่ปฏิบัติการเชิงทหารที่เกิดขึ้นจริง ทั้งฝั่งไทยที่ใช้เครื่องบิน F-16 ทิ้งระเบิดตอบโต้ และฝั่งกัมพูชาที่มีการเสริมกำลังเข้าแนวชายแดน ได้กดดันจิตวิทยาการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน เชื่อว่าหากยังไม่สงบจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ผันผวนต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ตลาดกลับชี้ให้เห็นภาพที่ต่างออกไป ว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีวุฒิภาวะในการตอบสนองต่อข่าวร้ายที่ดีขึ้น และยังคงขับเคลื่อนโดยปัจจัยมหภาคระดับโลกเป็นสำคัญ
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ได้ให้ทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะกดดันตลาดในระยะสั้น แต่ผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในวงจำกัด ข้อมูลในปี 2567 ระบุว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชามีสัดส่วนเพียง 1.1% ของ GDP ไทย และการส่งออกไปกัมพูชาคิดเป็นประมาณ 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนชัดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคนั้นมีน้อยกว่าที่หลายฝ่ายกังวล
ตลาดหุ้นไทยเองก็ได้ผ่านประสบการณ์ลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขาพระวิหารในช่วงปี 2551-2554 ซึ่งแม้จะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารจริง แต่ตลาดหุ้นก็เพียงแค่สะท้อนความเสี่ยงออกมาในช่วงแรก ก่อนจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นได้ภายในเวลาไม่นาน พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดมีการ “รับรู้ความเสี่ยง” หรือ price-in ไปแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์มีลักษณะเป็นวัฏจักรที่เคยเกิดขึ้นซ้ำในอดีต นักลงทุนจึงตอบสนองด้วยความระมัดระวังแต่ไม่ตื่นตระหนก
กรณีล่าสุดในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเพียง 7.13 จุด หรือราว 0.58% แม้เกิดเหตุการณ์ตอบโต้ และวันถัดมาดัชนีดีดกลับมาปิดบวก 4.66 จุด บ่งชี้ว่าตลาดได้รับรู้ประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มองว่าเป็นความเสี่ยงระดับใหม่
ขณะที่การโพสต์ข้อความของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ผ่าน Truth Social ซึ่งกล่าวถึงการหารือกับผู้นำไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับแนวทางหยุดยิง ก็ยิ่งช่วยหนุนความคาดหวังว่าอุณหภูมิของความขัดแย้งจะไม่ลุกลามจนถึงขั้นกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือระบบการค้าในภาพรวม
ถึงกระนั้น ความไม่แน่นอนยังไม่จบลงง่าย ๆ โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ เมื่อสหรัฐฯ เตรียมใช้มาตรการภาษีตอบโต้ หากไทยและกัมพูชาไม่สามารถแสดงความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าได้ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม ความเสียหายต่อภาคการส่งออกอาจเริ่มเห็นผลชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างผ่านแนวคิด “อัตราภาษีที่แท้จริง” (Effective Tariff Rate) ซึ่งคุณกรภัทรได้ชี้แนะไว้ จะพบว่า แม้ไทยจะต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้าใหม่ 25% แต่เมื่อถัวเฉลี่ยกับอัตราฐานเดิมที่ 11% แล้ว อัตราภาษีที่แท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 21% ซึ่งยังคงสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอาเซียนได้อย่างมีเสถียรภาพ
ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียซึ่งมีอัตราภาษีฐานเดิม 15% หากเผชิญอัตราใหม่ที่ 19% จะทำให้ effective rate สูงถึง 26% ส่วนเวียดนามที่แม้จะได้ข้อเสนอภาษี 20% ซึ่งคำนวณออกมาเป็น 18.4% ยังมีความเสี่ยงแฝงจากการ “สวมสิทธิ์สินค้า” หากสหรัฐฯ ตรวจพบว่าเวียดนามเป็นเส้นทางเลี่ยงภาษีของประเทศอื่น อาจถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ทำให้อัตราที่แท้จริงพุ่งขึ้นแตะ 23-25% ซึ่งในกรณีนั้น ไทยจะได้เปรียบในเชิงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
ในภาพรวม แม้จะมีปัจจัยเฉพาะจุดมากระทบตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่ทิศทางระยะกลางถึงยาวของตลาดยังคงถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยมหภาคระดับโลกเป็นหลัก โดยเฉพาะแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น เช่น ตลาดหุ้นในเอเชีย มีความน่าสนใจมากขึ้น กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเดิมที่เติบโตช้า เช่น ลาตินอเมริกา และเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีและเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าเดิม
แบบจำลองการวิเคราะห์ทิศทางเงินทุนยังคาดการณ์ว่า หากดอลลาร์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12–18 เดือน ค่าเงินในเอเชียจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าเป็นวัฏจักร ซึ่งจะเป็นอีกแรงสนับสนุนสำคัญต่อตลาดหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทยในระยะกลาง
ในแง่เทคนิค บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ระหว่างวันที่ (29 ก.ค.-1 ส.ค.68) มีแนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,205- 1,175 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,230-1,255 จุด โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 29-30 กรกฎาคม, ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนไทย, ความคืบหน้ามาตรการภาษีสหรัฐ และทิศทางของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ด้านนายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะผ่านช่วง "รับข่าวร้าย" ไปส่วนใหญ่แล้ว เห็นได้จากการที่แม้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันจริงบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา โดยฝ่ายไทยใช้เครื่องบินรบ F-16 ทิ้งระเบิดตอบโต้ในวันที่ 24 กรกฎาคม แต่ตลาดกลับปรับลดลงเพียง 7 จุด และดีดกลับขึ้นได้ในถัดมาวันที่ 25 ก.ค.ปิดบวก 4.66 จุด สะท้อนว่าตลาดได้รับรู้สถานการณ์ขัดแย้งนี้ต่อเนื่องมาร่วม 2 เดือนแล้ว ต่างจากเหตุการณ์อื่นในอดีตที่ทำให้ตลาดหวาดผวามากกว่า เช่น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่มีคลิปเสียงหลุดออกมา สร้างแรงกระแทกให้ดัชนี SET ร่วงลงถึง 19 จุดในวันเดียว และยังดิ่งลงต่ออีก 3 วัน รวมเป็นการปรับลดลงกว่า 60 จุดในช่วงสั้น ๆ
นักวิเคราะห์บางรายมองว่าการย่อตัวของตลาดในลักษณะนี้อาจเป็นโอกาสสะสมหุ้นสำหรับนักลงทุนที่มองการณ์ไกลในระยะกลาง โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า GG หรือ Good Game ซึ่งหมายถึงการรอให้เหตุการณ์รุนแรงระดับใหญ่ (mass scale) คลี่คลาย ก่อนที่ตลาดจะดีดตัวแรง อย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 โจมตีอิหร่าน แม้เป็นสถานการณ์ใหญ่ระดับโลก แต่ตลาดหุ้นไทยกลับฟื้นแรงในวันถัดมา ดัชนี SET ปรับขึ้นกว่า 3.5% ภายในวันเดียว จาก 1,062 จุด กลับมาที่ระดับ 1,100 จุด
โดยมีหุ้นเด่นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การเดินทาง และไฟแนนซ์ อาทิ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เพิ่มขึ้น 13%, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เพิ่มขึ้น 12%, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เพิ่มขึ้น 11%, และบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เพิ่มขึ้น 9%
คล้ายกันกับเหตุการณ์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่แม้สถานการณ์ทางการเมืองดูเปราะบาง แต่เมื่อไม่มีการรัฐประหารตามที่กังวล ดัชนีก็กลับดีดขึ้นกว่า 4% ภายในเวลาเพียง 4 วัน หุ้นเด่นในรอบนั้นอย่าง บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เพิ่มขึ้นถึง 21%, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M เพิ่มขึ้น 20%, และบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC เพิ่มขึ้น 15% ถือเป็นหลักฐานว่าตลาดมีพฤติกรรม "รีบาวด์แรง" เมื่อผ่านช่วงวิกฤตเฉียบพลัน
จากภาพทั้งหมด แม้ความไม่แน่นอนยังไม่จบ แต่ตลาดเริ่มปรับตัวและ "แข็งแรง" กับข่าวร้ายมากขึ้น การลงมาในช่วงนี้จึงอาจไม่ใช่สัญญาณลบ แต่คือจังหวะสะสมหุ้นพื้นฐานดี สำหรับนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในช่วงคลื่นผันผวนของการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่นิ่ง