สัมพันธ์‘อียู-จีน’เลวร้ายลง ‘ยุโรป’เมินการเกี้ยวพาจาก‘ปักกิ่ง’ แม้ถูก‘ทรัมป์’บีบคั้นจนหน้าเขียว
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2025/07/chinas-patience-wears-thin-with-eu-over-medical-device-row/)
China’s patience wears thin with EU over medical device row
by Jeff Pao
11/07/2025
การประชุมซัมมิตวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอียู-จีน ที่เดิมวางแผนจัดกัน 2 วัน ในวันที่ 24-25 ก.ค.นี้ มีหวังจะถูกตัดเหลือแค่วันเดียว ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่า สหภาพยุโรปไม่สนใจใยดีอะไร ตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ไป “สนทนาทางยุทธศาสตร์” ช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้ โดยพยายามแจกแจงว่า “ระหว่างจีนกับอียูนั้น ไม่ได้มีความขัดแย้งระดับรากฐานใดๆ เลย ทว่ากลับมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างค่อนข้างกว้างขวาง” จึงขอให้อียูพัฒนาความเข้าอกเข้าใจจีนในแบบไร้อคติและมีความสมเหตุสมผลให้มากขึ้น และนำเอานโยบายซึ่งเป็นไปในทางบวกและมุ่งมองผลในทางปฏิบัติให้มากขึ้นมาใช้กับจีน
ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากอียูจำกัดไม่ให้วิสาหกิจและผลิตภัณฑ์ของจีนเข่าร่วมในการประกวดราคาเสนอขายพวกเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่ภาครัฐของยุโรป ขณะเดียวกันปักกิ่งก็ได้ตอบสนองด้วยการเปิดฉากใช้มาตรการแก้เผ็ดเอาคืน
ความตึงเครียดที่กำลังขยายตัวออกไปทุกทีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการประชุมซัมมิตอียู-จีน ซึ่งในปัจจุบันมีกำหนดการจัดขึ้นในประเทศจีนระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคมนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอียูกับจีน
ทั้งสองฝ่ายวางแผน [1] กันเอาไว้ว่าวันแรกของการประชุมหารือจะจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ส่วนวันที่สองจะจัดในมณฑลอานฮุย ซึ่งเวลานี้เป็นฮับทางด้านเทคโนโลยีระดับสูงแห่งหนึ่งของจีน ทั้งทางการคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing), พลังงานฟิวชั่น (fusion energy), และเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงาน [2] ว่า รัฐบาลจีนอาจจะยกเลิกกิจกรรมในวันที่สอง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ตัดสิทธิพวกกิจการจีนจากการเข้าร่วมประกวดราคาเสนอขายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหลายซึ่งมีมูลค่าเกิน 5 ล้านยูโร (ราว 5.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คณะกรรมาธิการยุโรปอธิบายว่ามาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะจูงใจจีนให้ยุติการกีดกันบรรดาวิสาหกิจของอียูและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตโดยอียู และปฏิบัติต่อบริษัทอียูทั้งหลายด้วยความเปิดกว้างอย่างเดียวกับที่อียูปฏิบัติต่อบรรดาบริษัทและผลิตภัณฑ์ของจีน
EC อธิบายต่อไปว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการตอบโต้การที่จีนได้กีดกันตัดสิทธิ์มานานแล้วไม่ให้พวกเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งผลิตในอียูได้ทำสัญญาขายให้แก่ภาครัฐจีน
หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งมีอาวุโสสูงในวงการเมืองของแดนมังกร โดยมีตำแหน่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งใน 24 คนของกรมการเมือง (politburo) แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ได้พบปะหารือกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา หวัง กล่าวว่า อียูและจีน ซึ่งเป็น 2 อารยธรรมยิ่งใหญ่และ 2 พลังอำนาจสำคัญ ควรที่จะกระชับเพิ่มความแข็งแกร่งในการติดต่อสื่อสารกัน, เพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน, และเข้าแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ ท่ามกลางภูมิทัศน์ระหว่างประเทศที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งท้าทายมากขึ้นทุกที
ในวันเดียวกันนี้ หวัง ยังพบปะหารือ [3] เป็นเวลา 4 ชั่วโมงกับ คาจา คัลลัส (Kaja Kallas) ผู้แทนระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของคณะกรรมาธิการยุโรป
“ระหว่างจีนกับอียูนั้น ไม่ได้มีความขัดแย้งระดับรากฐานใดๆ เลย ทว่ากลับมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างค่อนข้างกว้างขวาง” หวัง กล่าว “ทุกวันนี้ยุโรปเผชิญกับความท้าทายต่างๆ หลากหลาย ทว่าความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้มาจากจีน ไม่ว่าในอดีต, ปัจจุบัน, หรืออนาคต”
เขารบเร้าอียูให้พัฒนาความเข้าอกเข้าใจจีนในแบบไร้อคติและมีความสมเหตุสมผลให้มากขึ้น และนำเอานโยบายซึ่งเป็นไปในทางบวกและมุ่งมองผลในทางปฏิบัติให้มากขึ้นมาใช้กับจีน
ตามรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) สื่อฮ่องกง หวังบอกกับคัลลาส [4] ว่า ปักกิ่งไม่ต้องการเห็นทางรัสเซียพ่ายแพ้ในยูเครน เพราะหวั่นเกรงว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้วสหรัฐฯก็จะปรับโฟกัสทั้งหมดของพวกเขามาเล่นงานจีน รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ของ หวัง ทำให้พวกเจ้าหน้าที่อียูบางคนถึงกับงงงวยทีเดียว
เพื่อตอบโต้มาตรการใหม่เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของอียู ทางด้านกระทรวงการคลังจีนได้ประกาศในวันที่ 6 กรกฎาคม เพิกถอนสิทธิไม่ให้พวกบริษัทอียูเข้าร่วมการเสนอราคาในการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของจีนซึ่งมีราคาเกินกว่า 45 ล้านหยวน (ราว 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทั้งนี้ กฎระเบียบใหม่นี้ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันที มีการยกเว้นไม่ใช้ [5] กับพวกเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งสามารถจัดหาได้จากอียูเท่านั้น
นอกจากนั้น จีนยังประกาศบังคับใช้ [6] ภาษี “ต่อต้านการทุ่มตลาด” (anti-dumping) กับสุราบรั่นดีที่นำเข้าจากอียู ขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 34.9% เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคมเป็นต้นไป
รัฐบาลจีนเอง ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าการประชุมซัมมิตอียู-จีนจะสิ้นสุดลงเร็วกว่าที่เคยวางแผนกันเอาไว้หรือไม่ ขณะที่มีพวกผู้ออกความคิดเห็นทางสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนบางรายเสนอแนะว่า การประชุมซัมมิตที่มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกตัดให้สั้นลงนี้ ควรพิจารณาว่าคือการตอบโต้เอาคืนการที่อียูกดขี่บีฑาภาคเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของจีน
“ในเดือนกรกฎาคม 2025 จีนได้เปิดฉากใช้มาตรการตอบโต้อียูอย่างประณีตบรรจง กล่าวคือ ดำเนินการตัดทอนซัมมิตอียู-จีนให้สั้นลง, จำกัดการซื้อหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของยุโรป, และบังคับให้อัตราภาษีศุลกากรใหม่เอากับสุราบรั่นดี มันคือการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าความอดทนอดกลั้นของจีนได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” หลี่ เหยียน (Li Yan) คอลัมนิสต์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ผู้คนซึ่งตั้งฐานอยู่ในนครหนานจิง (เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของแดนมังกร) กล่าวเช่นนี้ [7] ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง
“ในเมื่อการแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯได้กลายเป็นธีมหลักของโลกทุกวันนี้ อียูจึงไม่สามารถที่จะแสดงบททำเป็นเอนเอียงเข้าข้างทั้งสองฝ่ายในระหว่างประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 2 รายนี้ อย่างที่ได้เคยทำมาในอดีตได้อีกต่อไปแล้ว” หลี่ บอก
“อียูต้องการที่จะหาประโยชน์จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน และพยายามออกแรงกดดันจีนเพื่อสร้างแต้มสำหรับใช้ต่อรองทางการทูตขึ้นมา ในการเจรจาทางการค้าระหว่างอียู-สหรัฐฯ” เธอกล่าว “อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์เช่นนี้ละเลยเพิกเฉยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในประเทศจีน ซึ่งไม่ได้เป็นโรงงานของโลกที่เอาแต่มุ่งหาทางเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและเอาแต่กล้ำกลืนความโกรธแค้นของตนเอาไว้อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่งที่มีทั้งความสามารถ, ความมุ่งมั่นตั้งใจ, และเครื่องไม้เครื่องมือ สำหรับปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง”
เธอบอกว่าจุดยืนของปักกิ่งนั้นชัดเจนมาก นั่นคือ จีนมีความยินดีที่จะพูดจากัน แต่ก็ไม่ได้กลัวการเผชิญหน้ากันหรอก
การเจรจาการค้าอียู-สหรัฐฯ
ความสัมพันธ์อียู-จีนเปลี่ยนไปในทางย่ำแย่ลงเช่นนี้ ในห้วงเวลาเดียวกับที่อียูกับสหรัฐฯก็กำลังเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรเพื่อการตอบโต้ เอากับทุกๆ ประเทศสำคัญๆ เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งก็รวมถึงการขึ้นภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้าของอียูในอัตรา 20% แล้ว เขาก็ได้ยินยอมที่จะจัดเก็บภาษีศุลกากรอัตราพื้นฐานเพียง 10% จากประเทศเหล่านี้ไปก่อนเป็นเวลา 90 วันนับจากวันที่ 9 เมษายน
สื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ของสหราชอาณาจักร เคยรายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน [8] ว่า ทางอียูได้ยกเลิกการสนทนาเรื่องเศรษฐกิจและการค้ากับจีนที่วางแผนกันเอาไว้อย่างกะทันหัน โดยมีรายงานว่า อียูได้แสดงความกังวลทั้งเกี่ยวกับจุดยืนของจีนว่าด้วยสงครามของรัสเซียในยูเครน, กำแพงกีดกันการเข้าถึงตลาด, และความไม่สมดุลด้านการค้าโดยภาพรวม
“เมื่อตอนที่จู่ๆ อียู ก็ยกเลิกการสนทนาทางเศรษฐกิจและการค้าระดับสูงจีน-อียู ในวันที่ 17 มิถุนายนนั้น เหตุผลที่พวกเขาอ้างก็คือว่าไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องการเจรจาทางการค้า” ซือหม่า ผิงปัง (Sima Pingbang) คอลัมนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลซานซี กล่าว [9] ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง
“แต่ดูสิ่งที่อียูได้กระทำลงไปเมื่อเร็วๆ นี้เถอะ - ทั้งประกาศใช้ภาษีศุลกากรเพื่อการลงโทษในอัตรา 35.3% กับพวกยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีน, การจำกัดไม่ให้บริษัทจีนเข้าร่วมในการเสนอราคาเพื่อการจัดซื้อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของพวกเขา, การประโคมข่าวให้เอิกเกริกเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องการอุดหนุนผลิตภัณฑ์นม, และกระทั่งการแซงก์ชั่นแบงก์จีน 2 แห่งในข้อหา ‘กำลังช่วยเหลือรัสเซีย’” คอลัมนิสต์ผู้นี้แจกแจง
“การที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ไป ‘สนทนาเชิงยุทธศาสตร์’ ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม จึงดูเหมือนกับการยื่นคำขาดต่ออียูเสียมากกว่า” เขากล่าว “คัลลาส บอกว่า อียูจะเตรียมการสำหรับการประชุมซัมมิตที่กำลังจะมีขึ้น แต่เธอไม่ยอมประนีประนอมเรื่องอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับรายการแซงก์ชั่นจีน ความอดทนอดกลั้นของจีนจึงหมดสิ้นลงในท้ายที่สุด”
ซือหม่า กล่าวต่อไปว่า เวลานี้อียูเข้าใจแล้วว่าความอดทนอดกลั้นของปักกิ่งนั้นไม่ได้มีไว้สำหรับ “หุ้นส่วน” รายไหนก็ตามที่จ้องใช้มีดแทงจีนข้างหลัง เขาบอกว่า ยังคงมีเวลาอยู่บ้างก่อนที่จะถึงกำหนดประชุมซัมมิตอียู-จีน บางทีฝ่ายอียูอาจจะเปลี่ยนความคิดของพวกเขาก็ได้
นักวิจัยผู้หนึ่งจาก โชยอน อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (Choyon Information Technology) ของจีน อ้างอิงข้อมูลใน เมดเทค ยุโรป (MedTech Europe) ที่ระบุ [10] ว่า ยอดรวมการจัดซื้อสาธารณะทางการแพทย์ของอียูในปี 2024 อยู่ที่ 42,000 ล้านยูโร ในจำนวนนี้ 13,100 ล้านยูโร หรือ 31.2% มีความเกี่ยวข้องกับพวกซัปพลายเออร์ชาวจีน ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายสูงสุด 3 อันดับแรกซึ่งมาจากจีน ได้แก่ MRI coils (ขดลวดเครื่อง MRT สำหรับถ่ายภาพอวัยวะด้วยระบบคอมพิวเตอร์) 35%, CT ระดับไฮเอนด์ 28%, และ cardiac interventional devices (อุปกรณ์สวนหัวใจและหลอดเลือด) 24%
นักวิจัยผู้นี้บอกว่า การหาทางเลือกอื่นๆ มาใช้แทนผลิตภัณฑ์จีนเหล่านี้ บริษัทยุโรปน่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอาจจะถึงระดับ 60% ทีเดียว ซึ่งจะตกเป็นเงินประมาณ 7,800 ล้านยูโร
สำหรับสุราบรั่นดี ตามตัวเลขในปี 2024 บรั่นดีฝรั่งเศสส่งออกไปยังจีนมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านยูโรต่อปี การขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อการลงโทษในอัตรา 35.3% ของจีนแปลว่าจะต้องจ่ายค่าภาษีจำนวน 494 ล้านยูโร
ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญต่ออียูและบริษัทต่างๆ ของพวกเขา ทว่ามันน้อยนิดเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีศุลกากรที่อียูจะต้องจ่ายให้สหรัฐฯถ้าหากการเจรจาการค้าอียู-สหรัฐฯล้มเหลวพังครืนลง
ในปี 2024 ยอดส่งออกรวมของอียูไปยังสหรัฐฯมีมูลค่าทั้งสิ้น 532,300 ล้านยูโร และทำให้ทางยุโรปได้เปรียบดุลการค้าอเมริกาอยู่ 198,000 ล้านยูโร
การที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีศุลกากรเอากับอียู หากอยู่ในอัตรา 10% จะทำให้ยุโรปต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 53,000 ล้านยูโรป ถ้าเป็น 20% ตัวเลขก็จะกลายเป็น 106,000 ล้านยูโร มีอยู่ช่วงหนึ่งทรัมป์ถึงขนาดข่มขู่ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 50% (266,000 ล้านยูโร) ทีเดียว ถ้าอียูกล้าหือกล้าตอบโต้
ทรัมป์ได้ลงนาม [11[ ในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ขยายกำหนดเส้นตายขึ้นภาษีสำหรับประเทศและดินแดนคู่ค้าส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถีงอียูด้วย ออกไปอีกเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เขายังขู่พวกพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ว่า จะต้องเผชิญภาษีศุลกากรอัตรา 25%.ในเดือนหน้า หากพวกเขายังขืนไม่ยอมร่วมมือ
อียูนั้นแถลง [12] ในวันพุธ (9 ก.ค.) วาดหวังว่าจะสามารถเห็นชอบเรื่องกรอบข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯได้ภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้
เชิงอรรถ
[1] https://www.politico.eu/article/china-eu-summit-july-24-25/
[2] https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-07-03/china-set-to-cancel-part-of-eu-summit-in-latest-strain-on-ties
[3]https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjbzhd/202507/t20250703_11664496.html
[4]https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3316875/china-tells-eu-it-cannot-afford-russian-loss-ukraine-war-sources-say
[5]https://www.google.com/search?q=China+45+million+yuan+procurement+EU+medical+devices&rlz=1C9BKJA_enGB1051GB1051&oq=China+45+million+yuan+procurement+EU+medical+devices&gs_lcrp=EgZjaHJvbWUyCQgAEEUYORigAdIBCTc4MDQzajBqN6gCFLACAeIDBBgBIF_xBb1rHFp44DIl8QW9axxaeOAyJQ&hl=en-GB&sourceid=chrome-mobile&ie=UTF-8
[6] https://www.france24.com/en/france/20250704-china-slaps-anti-dumping-tariffs-of-34-9-percent-on-eu-brandy
[7]https://baijiahao.baidu.com/s?id=1836970791864438827&wfr=spider&for=pc
[8] https://www.ft.com/content/81700fc4-8f23-4bec-87e9-59a83f215431
[9]https://baijiahao.baidu.com/s?id=1836949235213390988&wfr=spider&for=pc
[10]https://baijiahao.baidu.com/s?id=1834177257738505171&wfr=spider&for=pc
[11] https://edition.cnn.com/2025/07/07/economy/trump-letters-tariffs
[12] https://www.dw.com/en/eu-eyes-quick-trade-deal-as-trump-announces-more-tariffs/a-73218680
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO