ปรากฏการณ์แสงสีแห่งศรัทธา
งานนี้ดึง 2 แนวคิดจาก “5 Must Do in Thailand” ได้แก่ Must See และ Must Taste มาไว้ในงานเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “วิจิตรแสงศรัทธา เมืองธรรมรุ่งเรือง” ถ่ายทอดการเดินทางจาก "แสงแห่งศรัทธา" สู่ "ศิลป์แห่งชีวิต" ที่หลอมรวมความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน ผ่านการจัดแสดงแสง สี และงานออกแบบร่วมสมัย โดยนำเทคนิคใหม่ผสมผสานกับการสร้างสีสันบรรยากาศยามค่ำคืนให้กับสถานที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยนวัตกรรมแสง สี เสียง และสื่อประสมที่ทันสมัย หรือ Projection Mapping & Lighting เชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับศิลปะร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุบลราชธานีในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองอุบลราชธานีจำนวน 11 จุด
เริ่มที่ "แสงเทียนศรีอุบล รวมใจศรัทธา" ณ อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ ในทุ่งศรีเมือง จุดที่ 2 "บัวงามกลางศรีศิลป์ ศรีแผ่นดินอีสาน" ณ สนามหญ้า ในทุ่งศรีเมือง จุดที่ 3 "แสงแห่งแผ่นดิน ถิ่นตำนานอุบล” ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี จุดที่ 4 “ไทรศิลป์แสงเงา เล่าขานเมือง" ณ ต้นไทรย้อย อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี จุดที่ 5 "ผดุงแสงสาร สื่อศิลป์เมือง" ณ ตึกโรงพิมพ์ผดุงสาร จุดที่ 6 การแสดง "แสงสุปัฏ - ธรรมบูชาแห่งอุบล" ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จุดที่ 7 "แสงอุ่นละไม ปลายทางแห่งศิลป์" ณ ตึกเหลือง จุดที่ 8 "ทองศิลป์วิจิตรศรี" ณ ห้างทองสินประเสริฐ จุดที่ 9 "หลวงธรรมล้ำค่า แสงศรัทธาเหนือกาล" ณ วัดหลวงอุบลราชธานี จุดที่ 10 "หอธรรม เรืองรอง ทองแห่งธรรม" ณ หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง และจุดที่ 11 "วนาแสงวิมุตติพุทธศิลป์" ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง
ในส่วนของ Must Taste นั้น เป็นการจัดกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายอาหารพื้นถิ่นจำนวน 25 ร้าน เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังชุมชนที่เป็นต้นกำเนิดวัตถุดิบ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของอาหารไทย อาหารถิ่น และวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายของประเทศไทย งาน “VIJIT GASTRONOLIGHT @อุบลราชธานีศรีศิลป์” จะเปิดไฟให้ได้ไปแชะและแชร์จนถึง 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 18.00–23.00 น.
ไปเยือนอุบลฯในช่วงเข้าพรรษา แน่นอนว่าจะต้องไปชื่นชมกับประติมากรรมเทียนพรรษาที่แต่ละวัดรังสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง และหนึ่งในแชมป์หลายสมัยก็คือ “วัดพระธาตุหนองบัว” โดยเป็นหนึ่งในชุมชนทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความงดงาม แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนมาเยือนวัดแห่งนี้แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็คือ “พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยจำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ทั้ง 4 มุมประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน พระธาตุองค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร เมื่อสร้างใหม่ครอบองค์เดิมที่เห็นในปัจจุบันมีขนาดใหญ่มาก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในปี 2512
บริเวณด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์มีรูปปั้นพญานาคราชองค์ใหญ่ 2 องค์ประดิษฐานเคียงคู่กัน สร้างขึ้นจากนิมิตของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว พญานาคราชนามว่า “ท่านปู่กริชกรกต” กับ “ท่านย่ามณีเกตุ” เป็นพญานาคสีรุ้ง หรือพญานาคฉัพยาปุตตะ หนึ่งใน 4 ของพญานาคทั้งหมด 4 ตระกูล ตามตำนานเล่าว่าเป็นพญานาคอาศัยอยู่ในนครบาดาลหรือป่าลึก มีผิวกายหรือเกล็ดหลากสีสันเป็นสีรุ้ง สองพญานาคราชได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรสูงถึง 15 เมตร ยาว 58.85 เมตร ท่วงท่าอ่อนช้อยงดงามราวกับกำลังเคลื่อนไหว
ส่วน “วัดสิรินธรวราราม” หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า “วัดภูพร้าว” เจ้าของภาพพระอุโบสถเรืองแสงที่มีสถาปัตยกรรมงานงาม แม้จะเป็นช่วงเวลากลางวันความงดงามก็ไม่ได้ลดน้อยเลย ด้วยวัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขา จึงกลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำและจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก สร้างโดย พระอาจารย์บุญมาก ซึ่งเป็นชาวลาวจำปาสักเข้ามาเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐานในฝั่งไทย และได้ปักกลดที่ภูพร้าวแห่งนี้ ต่อมาราวปี พ.ศ. 2516 ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่จากทางราชการให้เป็นวัด ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่าวัดสิรินธรวราราม
หลังจากพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างนานหลายสิบปี จนกระทั่งปี พ.ศ.2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมดังเดิม หลังจากพระครูกมลละสังขารไปในปี พ.ศ.2549 พระครูปัญญาได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสและสานต่องานสร้างวัดซึ่งรวมทั้งต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสงและการแต่งเติมพระอุโบสถ จิตรกรรมต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสงที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถนั้น ในเวลาพลบค่ำต้นกัลปพฤกษ์จะเรืองแสงโดดเด่นสะดุดตา ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพ คือ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ซึ่งภาพจะยิ่งเด่นชัดขึ้นในช่วงคืนเดือนมืด