รัสเซียยอมรับรัฐบาลตาลีบันเป็นประเทศแรกในโลก เห็นโอกาสดีเพื่อพัฒนาสัมพันธ์
รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศรับรองรัฐบาลตาลีบันอย่างเป็นทางการ โดย อาเมียร์ ข่าน มุตตากี รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลตาลีบัน กล่าวชื่นชมการตัดสินใจครั้งนี้ว่า “เป็นการแสดงความกล้าหาญ” ที่จะเปิดบทใหม่แห่งความร่วมมือ
คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่มุตตากีพบกับดมิทรี จิร์นอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงคาบูล ซึ่งได้แจ้งการตัดสินใจอย่างเป็นทางการของรัฐบาลรัสเซียในการให้การรับรอง “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน” ที่นำโดยตาลีบัน
มุตตากีระบุว่า ความสัมพันธ์ใหม่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งความเคารพซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และความสัมพันธ์เชิงบวก พร้อมแสดงความหวังว่าประเทศอื่น ๆ จะเดินตามรอยรัสเซีย
ขณะที่รัสเซียเล็งพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ว่า การรับรองรัฐบาลตาลีบันจะเร่งความร่วมมือทวิภาคีในทางสร้างสรรค์ระหว่างสองประเทศ โดยระบุว่ามีศักยภาพความร่วมมือทาง พลังงาน การคมนาคม เกษตรกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน รัสเซียยังให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลืออัฟกานิสถานในการต่อสู้กับการก่อการร้ายและการลักลอบค้ายาเสพติด
นอกจากนี้ รัสเซียไม่เคยปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงคาบูลหลังตาลีบันกลับคืนสู่อำนาจในเดือนสิงหาคม 2021 พร้อมย้ำผ่านแพลตฟอร์ม Telegram ว่า “การขยายบทสนทนากับคาบูลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเสถียรภาพในภูมิภาคและการพัฒนาเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ รัสเซียเป็นประเทศแรกที่ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจระดับระหว่างประเทศกับรัฐบาลตาลีบันในปี 2022 โดยตกลงจัดหาน้ำมัน ก๊าซ และข้าวสาลีให้แก่อัฟกานิสถาน
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้ถอดชื่อกลุ่มตาลีบันออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายของประเทศ เพื่อปูทางสู่การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบกับอัฟกานิสถาน
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียก็เคยกล่าวถึงตาลีบันว่าเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับการก่อการร้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 และตาลีบันได้เดินทางเยือนกรุงมอสโกหลายครั้งตั้งแต่ปี 2018
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็มีประวัติซับซ้อน โดยในปี 1979 สหภาพโซเวียตเคยส่งทหารบุกอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนรัฐบาลสายคอมมิวนิสต์ นำไปสู่สงครามนานเกือบ 10 ปีที่คร่าชีวิตทหารโซเวียตกว่า 15,000 นาย และจบลงด้วยการถอนกำลังในปี 1989
ขณะที่รัสเซียเดินหน้ารับรองตาลีบัน ประเทศตะวันตกและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างออกมาประณามรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเข้มงวด ซึ่งจำกัดสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างรุนแรง
ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงถูกห้ามเรียนต่อในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ไม่สามารถออกจากบ้านได้หากไม่มีผู้ชายพาไป ต้องปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวด และล่าสุด มีกฎหมายใหม่ห้ามผู้หญิงพูดหรือเปล่งเสียงในที่สาธารณะ
ด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่ากฎระเบียบเหล่านี้เทียบได้กับการแบ่งแยกเพศอย่างเป็นระบบ หรือ gender apartheid ขณะเดียวกันยังมีรายงานการ โบยตีต่อหน้าสาธารณะ และการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลชุดเก่า
ก่อนหน้านี้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกมาตรการคว่ำบาตรอัฟกานิสถานในปี 2021 โดยรวมถึงการอายัดทรัพย์สินของอัฟกานิสถานมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.9 แสนล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐบาลเดินหน้าเจรจา FTA เพิ่มต่อเนื่อง หลังใช้สิทธิภายใต้ความตกลงการค้าเสรี
- ทรัมป์หารือปูติน หาทางยุติความขัดแย้งในยูเครน
- ยูเครนโจมตีภูมิภาคเคิร์สก์ สังหารรองผบ.ทัพเรือรัสเซีย
- ปูตินคุยโทรศัพท์กับมาครงครั้งแรกตั้แต่ปี 2022 หารือหยุดสงครามตะวันออกกลาง-ยูเครน
- ญี่ปุ่นเดินแผนเร็ว ทดสอบ “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” เริ่มใช้ในรถยนต์ของรัฐบาล