จ่อทิ้งร้าง! “ท่าเรือ-พิพิธภัณฑ์ 007” จ.พังงา จังหวัดของบฯ สร้าง โบ้ยให้ท้องถิ่นดูแล
โครงการท่าเรืออัจฉริยะ ณ ท่าเรือสุระกุล ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ใช้งบประมาณเกือบ 42 ล้านบาท สำหรับติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ประมวลผล มีระบบลงทะเบียนออนไลน์ และสแกนใบหน้า เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือมีผู้โดยสารสูญหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว โดยจังหวัดพังงา เสนอของบฯ ในการจัด ครม.สัญจรที่ จ.ระนอง เมื่อเดือน ม.ค.2567 พร้อมระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน
พร้อมระบุว่า ท่าเรือสุระกุล มีความเหมาะสม เพราะเป็นท่าเรือในสังกัดของกรมเจ้าท่า มีอาคารที่มีความพร้อม นักท่องเที่ยวเดินทางไปอ่าวพังงาประมาณ 3 แสนคนต่อปี หลังโครงการแล้วเสร็จ จะมอบให้เทศบาลตำบลกระโสม รับผิดชอบบริหารจัดการดูแลต่อ
จากการประชุมสภาเทศบาลตำบลกระโสม มีมติ “ไม่เห็นชอบรับโอนทรัพย์สินในโครงการ” เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูง โดยประเมินว่าต้องใช้งบประมาณ 10 % ของวงเงินสัญญา หรือปีละ 4.1 ล้านบาท และยังมีปัญหาบุคลากรในการดูแลระบบที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้เครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมด ในระบบท่าเทียบเรืออัจฉริยะของท่าเรือสุระกุล ตั้งอยู่ในอาคารเปิดโล่ง จึงกังวลว่า สภาพอากาศ ไอระเหยจากทะเล จะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ เครื่องมือ ทำให้เสียหายเร็วกว่าปกติ และจากการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่เห็นชอบ
ผู้ประกอบการทัวร์ ท่องเที่ยวในพื้นที่ ระบุว่า ไม่รับรู้มาก่อน ว่าจะมีโครงการท่าเรืออัจฉริยะเข้ามา และยังไม่ใช่บริการ เพราะต้องลงทะเบียนค่อนข้างยุ่งยาก ไม่สะดวกต่อนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมายังไม่มีเจ้าหน้าที่มาทำความเข้าใจ
นอกจากนี้ยังระบุว่า ท่าเรือสุระกุล เคยเป็นท่าเรือหลัก แต่บริเวณใกล้เคียงก็มีท่าเรือเอกชน และท่าเรือของทางเทศบาลที่ใช้ขึ้น-ลงอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความปลอดภัย ทางผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามกฎระเบียบ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า เข้ามาตรวจสอบเป็นประจำ
มองว่า ท่าเรืออัจฉริยะ ที่ท่าเรือสุระกุล ไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ และอีกไม่นานก็อาจจะทิ้งร้าง ไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์เจมส์บอนด์ 007 ที่อยู่บริเวณเดียวกัน และใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 39 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาระบุว่า หลังส่งมอบอุปกรณ์และตรวจรับแล้ว ทางผู้รับเหมาโครงการจะดูแลบำรุงรักษาต่ออีก 2 ปี จัดส่งเจ้าหน้าที่ประจำจุด 6 คน เป็นเวลา 6 เดือน นับจากวันส่งมอบ ซึ่งหลังจากนั้นทางจังหวัดจะต้องจัดหางบประมาณ และบุคลากรเข้ามาดูแล เนื่องจากท้องถิ่นหรือเทศบาลตำบลกระโสม ยอมรับว่า ไม่มีกำลังเพียงพอ
ด้าน น.ส.ภคมณ หนุนอนันต์ กรรมาธิการการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วม ลงพื้นที่ ระบุว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดี นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว แต่ก็น่าตั้งคำถาม ว่างบฯ ที่ใช้ไปเหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีการร้องเรียนไปยัง กมธ.
รายงาน : ภัสรา จิกคำ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว : ทส.กำหนดเขตคุ้มครองทางทะเล-ชายฝั่ง "หมู่เกาะพยาม" 1.5 พันไร่
ฝากขังผู้ต้องหาปล้นเงิน 3.4 ล้าน ตร.จ่อเรียกผู้เสียหายแจงที่มาเงิน