ตลาดหลักทรัพยฯ เชื่อภาษีการค้าไทย-สหรัฐ กระทบไม่แรง เหตุนักลงทุนทยอยรับรู้
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ 30 มิถุนายน 2568 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 ปรับลดลง 22.2% จากปัจจัยเชิงลบเรื่องความขัดแย้งอิสราเอลกับอิหร่าน ,ความขัดแย้งชายแดนไทย- กัมพูชา และประเด็นเสถียรภาพการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเชิงบวก จากตัวเลขการส่งออกที่เร่งสูงขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์การอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ( GDP ) ปี 2568 ขึ้นเป็น 2.3% จากเดิมคาดไว้ 1.8%
ส่วนในระยะถัดไปมองว่า ยังต้องติดตามความชัดเจนจากมาตรการภาษีการค้าไทย-สหรัฐ ที่ยังไม่แน่นอน แม้ใกล้กำหนดเส้นตายในวันที่ 9 ก.ค. 2568 นี้ ส่วนกระแสข่าวที่สหรัฐจะเลื่อนออกไป จาก 9 ก.ค. เป็น 1 ส.ค.นั้น เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกกับไทย เพราะจะช่วยให้ไทยมีเวลาในการเตรียมการเจรจาได้ดีขึ้น ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยหรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น เบื้องต้นผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ บจ.น้อย แต่อาจต้องติดตามดูผลทางอ้อมอื่นๆ ด้วย
โดยสถานการณ์ในปัจจุบัน เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากตลาดหรือนักลงทุนได้รับรู้ผลบวกและลบในกรณีดี กรณีฐาน และกรณีแย่ที่สุดไปแล้วว่าจะอยู่ประมาณไหน จากการจัดทำบทวิเคราะห์และมุมมองหน่วยงนาภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ตลาดรับรู้ไปแล้ว แต่ตลาดหลักทรัพย์ก็จะติดตามผลการเจรจาอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งได้มีมาตรการและหลักเกณฑ์ในการดูแลตลาดที่เตรียมไว้ใช้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพราะมาตรการที่มีน่าจะรับมือได้ เพียงแต่ก่อนจะออกมาตรการใดๆ มาบังคับใช้ ก็ขอดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน และไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนก ( Panic) จนเกินไป
ทั้งนี้ ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมิถุนายน 2568 ตลาดหุ้นโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางในระยะสั้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ หลังประกาศข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่บรรลุข้อตกลงในการลดกำแพงภาษี นอกจากปัจจัยภายนอกในเดือนมิถุนายนแล้ว
ผู้ลงทุนไทยยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง สว.ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และมีมติสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการรักษาวินัยการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญหากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง