ศก.ชบ‘หุ้นกู้’จ่อยืดหนี้เพิ่ม ThaiBMAชี้ไฮยิลด์เสี่ยงสูง
#ThaiBMA #ทันหุ้น - ThaiBMAชี้แนวโน้มปีนี้หุ้นกู้ขยายระยะเวลาชำระคืนสูงกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 17 ราย จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยาวนานกระทบสภาพคล่อง เผยครึ่งปีแรกมีแล้ว 11 ราย มองกลุ่มไฮยิลด์เสี่ยงสูง ยันตลาดหุ้นกู้ไม่วายจากเชื่อมั่นดีอยู่ พร้อมหั่นยอดขายหุ้นกู้ปีนี้ลงเหลือ 8 แสนล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 8.5-9 แสนล้านบาท มองหากภาษีทรัมป์ชัด ดอกเบี้ยนโยบายหนุน ส่งผลมีบริษัทเสนอขายมากขึ้น
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ เป็นรองกรรมการผู้จัดการของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA ) เปิดเผยว่า จากภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวนานตั้งแต่โควิด และสหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ ขาดสภาพคล่อง ทำให้กระแสเงินสดไม่เพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินต้นเมื่อถึงกำหนด จึงจำเป็นต้องขอปรับโครงสร้างหนี้
@หุ้นกู้ไฮยิลด์เสี่ยง
ทั้งนี้หุ้นกู้ที่จะมีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้ไฮยิลด์ (Non-Investment Grade) ซึ่งตามทฤษฎีแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าหุ้นกู้ไฮยิลด์จะมีปัญหา เพราะบางบริษัทเพิ่งจะออกหุ้นกู้จึงยังไม่ได้จัดอันดับเครดิตเรตติ้ง หรือบางบริษัทไม่จัดอันดับเรตติ้ง แต่ยังสามารถขายหุ้นกู้ได้ เพราะบริษัทมีเชื่อเสียง และดำเนินธุรกิจมีความน่าเชื่อถือผู้บริหารน่าเชื่อถือ
สำหรับครึ่งปีแรก 2568 มีหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระ จำนวน 14 ราย มูลค่ารวม 17,540 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ออกรายใหม่ที่เพิ่งเคยเลื่อนครั้งแรก จำนวน 11 ราย คือ RICHY,PRIME, NRF, EP, TPOLY, ECF, GRAND, PF, B, JTS, EA, SQ โดยจำนวนใกล้เคียงกับทั้งปี 2567 ที่มีจำนวน 17 ราย มูลค่า 37,963 ล้านบาท โดยมีโอกาสที่มีหุ้นกู้ยืดการชำระหนี้สูงกว่าปีก่อนได้ จากที่ปีนี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งหลักๆ มาจากประเด็นเรื่องภาษีทรัมป์
ส่วนหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ (ดีฟอลต์) ในช่วงครึ่งปีแรก จำนวนผู้ออก 4 ราย มูลค่า 2,337 ล้านบาท คือ CV มีดีฟอลต์จำนวน 3 รุ่น WTX จำนวน 1 รุ่น CHO จำนวน 4 รุ่น GRAND 1 รุ่น ซึ่งเกือบใกล้เคียงกับปี 2567 ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ จำนวน 5 ราย มูลค่า 3,172 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการจะผิดนัดชำระนั้น ก็ไม่สามารถบอกได้ แต่ตัวชี้วัดทางการเงิน (Financial Ratios) แสดงให้เห็นว่าสถานะทางการเงินของหลายบริษัทได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย
@เชื่อมั่นหุ้นกู้ดี
นางสาวอริยา กล่าวว่า ในเรื่องความเชื่อมั่นการลงทุนในหุ้นกู้มองว่ายังดีอยู่เนื่องจากนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้มีประสบการณ์ และมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนมากขึ้น ซึ่งจากเดิมนักลงทุนรายใหญ่ (ไฮเน็ตเวิร์ก) ก่อนหน้านี้ จะลงทุนในหุ้นกู้ไฮยิลด์เพราะดอกเบี้ยที่สูง แต่ในช่วงนี้ก็จะเห็นมีการหันไปลงทุนในหุ้นกู้ระดับอินเวสต์เมนต์เกรดมากขึ้น
อย่างไรก็ตลาดหุ้นกู้ไม่ได้ “วาย” หรือซบเซา จนไม่มีการซื้อขาย แต่กลับมีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งขึ้น เพราะทุกฝ่ายที่หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการออกเกณฑ์เข้มขึ้นในการอนุญาตให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และก.ล.ต.มีการปรับเกณฑ์ต่างๆ เพื่อมีการคุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น นักลงทุนเองก็มีการเรียนรู้จะระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
@หั่นเป้ายอดขายหุ้นกู้ปี 68
ทั้งนี้ ThaiBMA ปรับลดคาดการ์ยอดออกหุ้นกู้ปี 2568 ลงเหลือ 8 แสนล้านบาท จากเดิมคาด 8.5-9 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกยอดออกเสนอขาย 398,820 ล้านบาท ลดลง 19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูงๆ คือ AAA AA ออกหุ้นกู้ลดลง เพราะมีทางเลือกในการไปขอสินเชื่อแทนก่อน หรือบางบริษัทมีสภาพคล่องที่สูง เพื่อรออัตราดอกเบี้ยลงมาในระดับที่น่าสนใจ เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะกลางถึงขาวเป็นขาลง และหุ้นกู้กลุ่ม High Yield มียอดออกเสนอขายลดลง เพราะนักลงทุนมีเลือกลงทุนมากขึ้น มีเพียงหุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง A ยังมียอดเสนอขายเติบโตสูงกว่าปีก่อน รวมถึงบริษัทที่มีการยืดหนี้ออกไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่ออกหุ้นกู้อีก เพราะจะขายได้ยากจากนักลงทุนกังวลว่าชุดเก่ามีปัญหา กังวลหุ้นกู้ชุดใหม่จะมีปัญหาต่อ
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 มีโอกาสยอดออกจะสูงกว่าที่คาดการณ์ได้ หากการเจรจาทรัมป์มีความชัดเจนทำให้ตลาดทางการเงินนิ่ง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เอื้อในการระดมทุนในการออกหุ้นกู้ ก็จะทำให้บริษัทกลับมาออกเสนอขายหุ้นได้
@ยอดคงค้าง 17.3 ลบ.
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สิ้นไตรมาส 2/2568 มูลค่าคงค้าง ตลาดตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 17.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 93% ของ GDP) เพิ่มขึ้น 1.1% จาก สิ้นปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่ผ่านมา
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 32,331 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 : โดยเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาท ในเดือนมกราคม จากนั้นเป็นการเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน รวม 79,240 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับเป็นการขายสุทธิ