ประมง - ปตท. หนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียง Pinger ป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
กรมประมงจับมือ ปตท. สนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงความถี่สูง (Pinger) ปกป้องชีวิตสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ
วันที่ 8 ก.ค.2568 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีมอบอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงความถี่สูง (Pinger) ในการทำประมงเครื่องมือประมงอวนติดตาให้แก่ชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ณ วัดเจริญสุนทราราม อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายพีระศักดิ์ พานิชไตรภพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการรื้อถอน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม นายสุชาติ รัตนเรืองสี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 นายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง นายกสมาคมเรือลากคู่สมุทรสงคราม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ว่า
โลมา เป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammals) ที่มีพฤติกรรมออกหากินบริเวณชายฝั่ง จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเครื่องมือประมงโดยไม่ได้ตั้งใจหรือกลายเป็นสัตว์น้ำพลอยจับได้ (By-catch) เนื่องจากการหากินที่มักจะเข้าใกล้เขตการทำประมง หรือแนววางอวน ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บหรือความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน
ประกอบกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ประกาศให้พะยูน วาฬและโลมา รวม 24 ชนิด เป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2559 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง เป็นสิ่งที่เน้นย้ำได้ว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดังกล่าว
ซึ่งสอดคล้องกับองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทกับหลายประเทศทั่วโลก และได้ประกาศใช้กฎหมาย Marine Mammal Protection Act (MMPA) โดยกำหนดให้ประเทศคู่ค้าต้องพิสูจน์ว่ากระบวนการทำการประมงของตนไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
ซึ่งผลการประเมินเบื้องต้นของประเทศไทย NOAA พบว่าการใช้อวนติดตาในพื้นที่อ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดีและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่อ่าวไทย (เกินเกณฑ์เพียงเล็กน้อย)
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าว กรมประมงร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงความถี่สูง (Pinger) ให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอวนติดตา เพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยคัดเลือกพื้นที่นำร่องในการจัดทำโครงการจากผลการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่พบว่าพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก
โดยเฉพาะบริเวณทะเลจังหวัดตราด และพื้นที่อ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่พบสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกระจายตัวมากกว่าพื้นที่ทำการประมงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ NOAA ให้ความสนใจ โดยการดำเนินโครงการจะเป็นการติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงความถี่สูง (Pinger) กับเครื่องมือประมงอวนติดตา โดย Pinger ที่ใช้โครงการนี้ เป็นอุปกรณ์มีขนาดเล็ก ทรงกระบอก ผลิตจากวัสดุที่ทนแรงกระแทก
และมีวัสดุห่อหุ้มด้านนอกซึ่งทำจากยาง เพื่อป้องกันตัวส่งสัญญาณ ขนาด 20x6x5 เซนติเมตร ใช้แบตเตอรี่ชนิดอัลคาไลน์ (Alkaline) พร้อมสัญญาณไฟแสดงระดับพลังงานแบตเตอรี่ น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ 250 กรัม สามารถใช้งานได้ที่ระดับความลึกน้ำตั้งแต่ 0 - 100 เมตร สามารถส่งคลื่นสัญญาณ ช่วงความถี่ 20 - 120 กิโลเฮิรตซ์ โดยคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นช่วงความถี่ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถรับรู้ได้และจะว่ายหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว
ปัจจุบันมีรายงานจากหลายประเทศพบว่าเครื่องมือ Pinger สามารถลดอัตราการติดเครื่องมือประมงของสัตว์กลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในครั้งนี้กรมประมงได้ส่งมอบอุปกรณ์ Pinger จำนวนจำนวน 60 ชุด ชุดละ 3 อัน รวม 180 อัน ให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือประมงอวนติดตาในพื้นที่ บริเวณบ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง และบ้านบางบ่อล่าง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งสิ้น 20 ราย
โดยหลังจากดำเนินการติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงความถี่สูง (Pinger) กับเครื่องมือประมงแล้วแล้ว กรมประมงโดยกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจะเข้าติดตาม และเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำที่นับได้และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อให้ทราบถึงสภาวะการทำประมงของอวนติดตาจากการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินประสิทธิภาพของเครื่องมือและผลกระทบต่อการทำการประมง
โดยกรมประมงเชื่อมั่นว่าอุปกรณ์ Pinger ที่ส่งมอบและติดตั้งในครั้งนี้ จะสามารถป้องกันการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กรมประมงมุ่งหวังว่า การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์และองค์ความรู้ รวมทั้งกิจกรรมปลุกจิตสำนึกในการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ จะช่วยสร้างความร่วมมือในการป้องกันและอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และสามารถลดผลกระทบของการทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงอวนติดตาที่มีต่อทรัพยากรสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน รวมถึงจะขยายผลต่อเครื่องมือประมงชนิดอื่น และพื้นที่อื่นในอนาคต
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประมง - ปตท. หนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียง Pinger ป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th