SET ชี้เดือนมิ.ย. ตลาดหุ้นไทยยังแกร่ง แม้เผชิญสภาวะสงคราม
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากประเด็นประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เลื่อนกำหนดเส้นตายจัดเก็บภาษี (Tariff) เป็นวันที่ 1 ส.ค. 68 จากเดิมวันที่ 9 ก.ค. มองว่าไม่ว่าอย่างไรการจัดเก็บภาษีก็มีผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
โดยหากจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับสูงไทยอาจต้องเหนื่อยมากหลังจากนี้ แต่หากเป็นเกณฑ์ภาษีต่ำถือว่าเป็นข่าวดี ทั้งนี้ หลังจากนี้ต้องรอดูท่าทีว่าสหรัฐฯ คิดเห็นอย่างไรกับข้อสรุปชุดใหม่ที่เราส่งไป อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการกำกับตลาด รับมือจากความไม่แน่นอนจากเกณฑ์นโยบายจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศแผนการที่จะ เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% จากประเทศใดก็ตามที่สนับสนุน "นโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS" ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS เมื่อ ธ.ค. 67 ที่ผ่านมา โดยมองว่ายังไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกโดยให้รอดูความชัดเจนเรื่องรายละเอียดอีกครั้่ง
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมายและ บริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลท. กล่าวว่า จากคำถามที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการชั่วคราวโดยเฉพาะการปรับลด Ceiling & Floor เหลือ 15% จาก 30% จะเอื้อประโยชน์ต่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกบังคับขายหุ้น (forced sell) หรือไม่นั้น
ทางตลท. ยืนยันว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเรื่องการบังคับขายหุ้น (forced sell) เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ ที่จะต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงกับลูกค้าเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ ทั้งการเรียกเงินวางหลักประกัน (Margin) หรือการ Forced sell โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการตรวจสอบภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว หากว่าโบรกฯ ไหนทำตามกติการที่กำหนด เช่น หลักประกันลดลงไปต่ำถึงระดับ Call margin ก็จะลงโทษสมาชิก หรือเมื่อหลักประกันลดต่ำถึงระดับที่ต้อง Forced sell แล้วแต่โบรกไม่ยอม Forced sell ก็จะลงโทษสมาชิก
"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ Post audit และต้องติดตามดูแลกับสมาชิก ส่วนหน้าที่บริหารความเสี่ยงทั้ง Call margin และ Forced sell เป็นหน้าที่ของโบรกฯ ที่ต้องดูแลตัวเอง"
SET ยังแกร่งเผชิญปัจจัยสงคราม
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางในระยะสั้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อีกทั้งผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ หลังประกาศข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่บรรลุข้อตกลงในการลดกำแพงภาษี นอกจากปัจจัยภายนอกในเดือนมิถุนายนแล้ว
ผู้ลงทุนไทยยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง สว. ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และมีมติสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
"ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือการประกาศสงคราม ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว มักเผชิญกับความผันผวนเพียงระยะสั้น ก่อนจะฟื้นตัวและกลับมาให้ผลตอบแทนในทิศทางบวกได้ภายในเวลาไม่นาน ตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในลักษณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา"
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการรักษาวินัยการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่หลังจากวันสุดท้ายที่มีการเปิดขายกองทุนรวม Thai ESGX มี Fund Flow ของผู้ลงทุนเข้ามาอยู่ในกรอบกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงหุ้นไทยในช่วงความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมิถุนายน 2568 นั้น พบว่า SET Index ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 ปรับลดลง 22.2%
โดบมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663 ล้านบาท หรือลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai จำนวน 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. นูทริชั่น โปรเฟส (NUT)
ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า
ด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 4.51% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.30%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมิถุนายน 2568 นั้น พบว่า มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 442,877 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
โดยตลอดปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 438,459 สัญญา ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures