ปตท.สผ.ลุย CCS จ่อเปิดประมูลก่อสร้างแหล่งอาทิตย์ จี้รัฐคลอดมาตรการสนับสนุน
ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1.การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณขายปิโตรเลียม ในปี 2572 ขึ้นไปอยู่ที่ 581,000 บาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสปี 2568 มีปริมาณขายเฉลี่ย 484,218 บาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบต่อวัน
2.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero) โดยมีแผนระยะกลางที่จะลดความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2583 จากปีฐาน 2563 โดยในไตรมาสแรกปี 2568 สามารถลดความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20.9 % จากปีฐาน 2563 และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 4.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 25633
3.การเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ที่แสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจการดักจับและการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) การต่อยอดเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงพลังงานในอนาคต
ภายใต้แผนกลยุทธ์ (Drive-Decarbonize-Diversify) ปตท.สผ.ได้จัดสรรงบประมาณช่วง 5 ปี ( 2568-2572) อยู่ที่ 33,587 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ รายจ่ายดำเนินงาน 12,338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งได้สำรองงบประมาณในช่วง 5 ปีนี้อีกราว 1,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การขับเคลื่อนโครงการนำร่องดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ของปตท.สผ. ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ ในอ่าวไทย เป็นแผนการดำเนินงานสำคัญ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนตํ่าตามเป้าหมาย Net Zero และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ
ปัจจุบันได้ทำการศึกษาและออกแบบทางวิศวกรรม (FEED) เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการทำข้อตกลงต่าง ๆ เช่น ขั้นตอนการประมูลจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision: FID) ภายในปี 2568 โดยหลังจากตัดสินใจลงทุนจะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการอัดกลับคาร์บอนได้ เมื่อดำเนินการเต็มกำลังจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ส่วนการพัฒนาโครงการ Eastern CCS Hub พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ที่ร่วมมือกับกลุ่มปตท.เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนฯ จากโรงงานต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ส่งผ่านตามท่อเพื่อนำไปกักเก็บที่ชั้นหินใต้ทะเล ได้บรรลุผลการศึกษาทางเทคนิค เช่น การแปลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Reprocessing) และการประเมิน ปริมาณการกักเก็บ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมแผนการดำเนินงานกิจกรรม สำรวจคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Acquisition) และเสนอแนวทางดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัด ทางกฎระเบียบ
ทั้งนี้ โครงการนำร่อง CCS ที่แหล่งอาทิตย์ ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีมูลค่าการลงราว 15,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่อง CCS ที่แหล่งอาทิตย์ มีความล่าช้ามากว่า 2 ปี แม้ว่าที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานจะมีแผนการดำเนินงานด้าน CCS ภายใต้กรอบ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคนิค ด้านข้อกำหนดและกฎหมาย ด้านการค้าและมาตรการจูงใจ และด้านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่การขับเคลื่อนยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศ ข้อกำหนดและกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ประกอบกับเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐหรือแนวทางในการได้รับผลตอบแทนอื่นใดทางธุรกิจ เพื่อชดเชยต้นทุนการลงทุนที่สูง เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ต้องให้สิทธิหักรายจ่ายทางภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสองเท่า หรือการหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและดำเนินการโครงการ CCS ได้สูงกว่าปกติ
การให้เครดิตภาษีสำหรับการลงทุนในโครงการ CCS หรือสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนที่ทำได้จริง จะช่วยลดภาระภาษีและเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน และมาตรการอื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการ CCS หรือการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจที่ลงทุนในเทคโนโลยี CCS ซึ่งมาตรการสนับสนุนทั้งหมด ปัจจุบันยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากระทรวงการคลัง
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รายงานว่า จากที่ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน(CCUS roadmap) แบ่งกรอบการพัฒนาปริมาณการกักเก็บเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก (ปัจจุบัน-พ.ศ. 2573) ปริมาณที่ 1-10 ล้านตันต่อปี ระยะกลาง (พ.ศ. 2574 - 2583) ที่ปริมาณ 10-50 ล้านตันต่อปี และ ระยะไกล (พ.ศ. 2584- 2593) ที่ปริมาณ 60-150 ล้านตันต่อปี