เศรษฐกิจจีนโต 5.2% เกินคาด แต่สัญญาณเตือนมาเต็ม กำลังซื้อคนจีนดิ่ง
แม้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาส 2 ปี 2568 จะออกมาดีเกินคาดที่ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5.1% และแม้จะชะลอลงเล็กน้อยจาก 5.4% ในไตรมาสแรก แต่ก็ยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐฯ ยังคุกรุ่น ทว่าหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่าเศรษฐกิจแดนมังกรกำลังเผชิญแรงเสียดทานจากหลายด้าน ทั้งความเปราะบางของอุปสงค์ในประเทศ ราคาสินค้าตกต่ำ และความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจกลับมาทำลายสมดุลอีกครั้ง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 0.9% แม้จะชะลอจากไตรมาสแรกที่โต 1.2% แต่ก็ยังสะท้อนถึงนโยบายพยุงเศรษฐกิจที่ได้ผลในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการเร่งส่งออกล่วงหน้าในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนยังอยู่ในภาวะสงบศึกทางการค้า อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในครึ่งหลังของปียังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะที่ตลาดกำลังจับตาประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดชี้ทิศทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
แม้รัฐบาลจีนจะเดินหน้าทุ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปรับลดดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่อง และออกมาตรการอุดหนุนผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เริ่มหันไปตั้งการ์ดสูง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายภาษีจากวอชิงตันและปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่ยังแก้ไม่ตก
หนึ่งในปัญหาที่สะท้อนความกดดันต่อคนจีนทั่วไปได้ชัดเจนคือ กำลังซื้อที่ลดลง ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว 6.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ในทางตรงกันข้าม การบริโภคภาคเอกชนกลับอ่อนแรง โดยยอดค้าปลีกโตเพียง 4.8% ลดลงจาก 6.4% ในเดือนพฤษภาคม และถือว่าเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี
มาลอรี เจียง แพทย์วัย 30 ปีในเมืองเซินเจิ้น สะท้อนภาพชีวิตคนชั้นกลางในจีนยุคเศรษฐกิจไม่สดใสว่า “ทั้งฉันและสามีรายได้ลดลง เรายังไม่กล้าซื้อบ้านใหม่เลย ตอนนี้ต้องลดรายจ่าย ใช้ขนส่งสาธารณะ กินข้าวโรงพยาบาลหรือทำกับข้าวกินเอง ความกดดันในชีวิตยังสูงมาก”
ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรก็ยิ่งตอกย้ำความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ โดยช่วงครึ่งปีแรกการลงทุนเติบโตเพียง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจาก 3.7% ในช่วง 5 เดือนแรก ขณะที่ยอดการผลิตเหล็กกล้าดิบในเดือนมิถุนายนร่วงลงถึง 9.2% สะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มหั่นการผลิตเพราะดีมานด์ในประเทศซบเซา
อีกฟากหนึ่งที่ยังเป็น "แผลเรื้อรัง" คือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ทางการจีนจะพยายามกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดแนวโน้มขาลงได้ ล่าสุดข้อมูลระบุว่า การลงทุนภาคอสังหาฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีหดตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่ราคาบ้านใหม่ในเดือนมิถุนายนลดลงมากที่สุดในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันนโยบายฟื้นฟูชุมชนเมืองและโมเดลการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชนในยุคที่รายได้ไม่แน่นอน
นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักมองตรงกันว่า แม้ GDP ในครึ่งปีแรกจะยังเกาะอยู่เหนือเป้า 5% ที่รัฐบาลจีนวางไว้ แต่การจะรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ได้ตลอดทั้งปีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในภาวะที่แรงส่งจากนโยบายคลังเริ่มจางลง และปัจจัยหนุนจากการส่งออกอาจถูกฉุดรั้งหากทรัมป์เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมตามที่ประกาศไว้
แบบจำลองการคาดการณ์ของรอยเตอร์สชี้ว่า GDP ของจีนอาจชะลอตัวเหลือ 4.5% ในไตรมาส 3 และ 4.0% ในไตรมาส 4 ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 2568 โตเพียง 4.6% และลดลงต่อเนื่องเหลือ 4.2% ในปี 2569 หากไม่สามารถพลิกฟื้นแรงซื้อภายในประเทศได้ทันเวลา