เปิดมุมมองไอติม-พริษฐ์ ผิดหวังแต่อย่าหมดหวัง กับประเทศไทย
หากถามว่าปัจจุบันนี้ คนไทยเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายๆคนคงจะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะสะท้อนปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โอกาสในการหารายได้ การศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงรัฐสวัสดิการ หรือแม้แต่ปัญหาการเมืองไทย ไปจนถึง ปัญหาการคอร์รัปชัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในชีวิตประจำวัน อาจทำให้บางคนอาจจะรู้สึกหมดหวังกับประเทศไทย เพราะหลายปัญหาดูไม่มีทางออก หรือหลายปัญหาใช้เวลาแก้มานานับทศวรรษแต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังหัวข้อเสวนาThailand Hidden Potential ประเทศไทยกับโอกาสที่ซ่อนอยู่ โดยไอติม หรือ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ที่งาน Creative Talk Conference 2025
‘คนไทยเราผิดหวัง แต่ไม่ได้หมดหวัง’ คำถามคือทำไมเราถึงกล้าพูดอย่างนั้น ? นี่คือคำถามที่คุณพริษฐ์ชวนเราคิด
คุณพริษฐ์ ได้กล่าวเปิดถึงปัญหาต่างๆของประเทศไทยที่เราพบเจอในแต่ละวัน และสุดท้ายได้ถามผู้ฟังในฮอลว่า‘ถ้าพรุ่งนี้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทุกคนจะไปเลือกตั้งไหม? ’
เชื่อหรือไม่ว่าเกิน 80% ของผู้ฟังที่อยู่ในฮอลต่างพร้อมใจยกมือ นั่นทำให้คุณพริษฐ์พูดต่อว่า ‘เห็นไหมว่าเรายังไม่หมดหวังกับประเทศนี้’ เพราะตราบใดที่ประชาชนเห็นความหมายของการเลือกตั้ง = เรายังมีความหวัง
‘ผิดหวัง’ ได้ แต่อย่า ‘หมดหวัง’
คุณพริษฐ์ มองว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศเรามีหลายสิ่งหลายเกิดขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่หมักหมมมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาคอรัปชั่นที่ทำให้ตะแนนความโปร่งใส่ของประเทศแย่ลงไปเรื่อยๆ การผิดหวังจากการตั้งรัฐบาลที่มีสว.เข้ามาแทรกแซงแบบที่เราไม่ได้เป็นคนเลือก
ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่รู้สึก ‘ผิดหวัง’ แต่คุณพริษฐ์ กลับมองว่า ‘คนไทยไม่ได้หมดหวังในประเทศไทย’
การเลือกตั้งรอบในปี 2566 ที่ผ่านทั้ง สส.และท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง
- พรรคก้าวไกล (ที่ไม่ได้เป็นบ้านใหญ่ ไม่ได้มีฐานเสียงหลัก หรือเรียกได้ว่าเป็นพรรคหน้าใหม่) กลับได้รับคะแนนเสียงความเชื่อมั่นจากประชาชนมาเป็น อันดับ 1
- กว่า 70% ของคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้พอในการทำงานของรัฐบาลในชุดนั้น
- คนออกมาเลือกตั้งเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความฝัน และ ความหวัง’ ของคนไทยที่อยากให้ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเราถูกพัฒนาขึ้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลจะไม่ได้ออกมาตามที่เราหวังไว้ แต่คือคือความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆของสังคมไทย
อย่าประเมินเสียงประชาชนในโซเชียลต่ำเกินไป
ในวันที่เราโกรธกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เชื่อว่าหลายๆคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงออกทางความคิดเห็น ระบายความรู้สึกโกรธ ความไม่เป็นธรรม หรือ พยายามเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่บางคนก็อาจจะคิดว่าเสียงบ่นของเรามันไม่มีค่า ไม่มีความหมายอะไร
คุณพริษฐ์ ได้ยืนยันว่าเสียงของประชาชนในโซเชียลมีเดีย มีความหมายมาก ยิ่งเราบ่นมากเท่าไร แสดงความคิดเห็นมากเท่าไร ยิ่งส่งผลต่อท่าทีของสส.ในสภา หรือสามารถเปลี่ยนเรื่องบางเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
เช่น พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก สำเร็จได้ด้วยพลังของประชาชน
ชื่อเต็มของกฎหมาย "ไม่ตีเด็ก" คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568
คุณพริษฐ์ ได้เล่าถึงแนวทางการทำงานของสส. ในการยื่นเสนอกฏหมายว่า ในช่วงนั้นฝ่ายค้านเคยได้เสนอ พ.ร.บ.ไม่ตีเด็ก ซึ่งปกติแล้วเราจะพอรู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่เราเสนอ ฝ่ายรัฐบาลจะเห็นด้วยไหม พ.ร.บ.นี้จะสำเร็จหรือเปล่า หากเรื่องที่เราเสนอ รัฐบาลเห็นด้วยปกติแล้วเขาจะส่งร่างกฎหมายมาประกบคู่ เพราะถ้าร่างนี้ผ่านจะได้ผ่านคู่
แต่พอส่งพ.ร.บ ไม่ตีเด็กไป ตอนนั้นฝ่ายรัฐบาลไม่ส่งร่างกฎหมายคู่ ประชุมจนถึงตอนเย็นมันเลยถูกปัดไปคุยต่อในการประชุมครั้งหน้า
ซึ่งตอนนั้นได้เกิดกระแสโซเชียล คนเข้ามาตั้งคำถามว่าทำไมพ.ร.บ.ไม่ตีเด็กถึงไม่ผ่าน สื่อต่างๆทั้งออนไลน์และโทรทัศน์ก็ต่างรายงานข่าว จนสุดท้าย พ.ร.บ.ไม่ตีเด็ก ผ่าน!
คุณพริษฐ์ ได้ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ไม่ตีเด็ก นี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยที่ฝ่ายค้านเสนอและรัฐบาลไม่ส่ง แต่กลับผ่านร่างกฎหมาย และประสบความสำเร็จได้เพราะเสียงของประชาชน
สิ่งที่แย่กว่า ‘การเลือกตั้งไม่ชนะ’ คือ ‘การชนะ’ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
คุณพริษฐ์ ได้เล่าว่า “เป้าหมายของทุกพรรค คือ ‘ต้องไม่ใช่แค่ชนะ’ แต่ ‘ต้องชนะเพื่อเปลี่ยน’ และรูปแบบในการชนะของแต่ละพรรค มันสามารถกำหนดได้ว่าคุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้หรือไม่ เพราะทุกอย่าง มีราคาที่ต้องจ่าย”
สิ่งสำคัญของพรรคการเมือง คือ‘การไม่เป็นหนี้บุญคุณใครนอกจากประชาชน’ คุณถึงสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่ต้องไม่มีหนี้บุญคุณ 4 อำนาจ ได้แก่
- ทุนใหญ่ = แหล่งเงินทุนสนับสนุนใหญ่
- บ้านใหญ่ = กลุ่มคนที่อาจจะมีอิทธิพลในพื้นที่ ที่สามารถชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน
- นายใหญ่ =เจ้านายที่ใหญ่สุด
- พี่ใหญ่ = อำนาจนอกระบบ
หากชัยชนะของคุณไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของคุณสุดท้ายแล้วมันต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น การที่เราเห็นการต่อร้อง การแบ่งเก้าอี้ครม.
คุณพริษฐ์ ได้เล่าเสริมว่า แน่นอนว่าการทำพรรคการเมืองมีค่าใช้จ่าย ทั้งในเรื่องการหาเสียง ป้ายกระกาศ หรือแม้แต่รถแห่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าการเลือกตั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย มาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงแบบเดิมๆ รวมถึงรายได้หลักของพรรค ก็เกิดขึ้นจากภาษีประชาชน (ตอนที่เราจ่ายภาษี สามารถติ้กได้ว่าจะให้เงินสนับสนุน) พอพรรคอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง จึงไม่ต้องทำอะไรเพื่อตอบแทนบุญคุณใครนอกจาประชาชน
เปิดมุมมองไอติม-พริษฐ์ ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต้องแก้อะไร ?
1.เอกสารงบประมาณประจำปี
คุณพริษฐ์ ได้เล่าว่า งบประมาณของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นน้อยมาก เช่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้เกิดหลายเหตุการณ์ เช่น โควิด หรือ ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เชื่อหรือไม่ว่างบประมาณของเราถูกจัดวางไว้เหมือนกันคล้ายๆกันหมด มีเพียงแค่ 1 ใน 3 ที่สามารถ flexible ซึ่งก็ไม่ได้ flexible ขนาดนั้น
พร้อมตั้งคำถามว่า ‘มีใครใครชอบจ่ายภาษีบ้าง’ เชื่อว่ากว่า 99% ไม่มีใครชอบจ่ายภาษี เพราะประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเงินของพวกเขารัฐบาลเอาไปใช้ทำอะไร คุณภาพชีวิตก็เท่าเดิม
2.แก้ระบบราชการ รวมศูนย์ –แตกกระจาย
ระบบราชการไทย จะไม่ค่อยไว้ใจท้องถิ่น เช่น จ่ายเงิน 100 บาท ส่วนกลาง 80 ท้องถิ่น 20 เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ที่รัฐบาลกลาง 50 และท้องถิ่นได้ 40
นอกจากนี้เวลาที่เกิดโปรเจกต์ขึ้นในต่างจังหวัด ส่วนมากคือเป็นความคิดของรัฐบาลกลาง ซึ่งจริงๆแล้วคนที่คิดได้ดีที่สุด เข้าใจคนในท้องที่มากที่สุดคือคนท้องถิ่น แต่พอโปรเจกต์เกิดขึ้นแล้วไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก ‘คนคิดไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้คิด’
นอกจากนี้ คุณพริษฐ์ ยังได้ตั้งคำถามอีกว่า application ของหน่วยงานรัฐของไทย ตอนนี้ประเทศของเรามีกี่แอป ?
ยกตัวอย่างง่ายๆสำหรับ application สภา สส.มี 1 แอป สว. มี 1 แอป คำถามคือจะแยกทำไมทั้งๆที่เราก็ทำงานที่เดียวกัน แต่ละหน่วยงาน แต่ละกรมทำเป็นเหมือนว่าเราทำงานคนละบริษัท และแน่นอนว่ามันจะเป็นเรื่องยุ่งยากของประชาชน ทั้งการติดตามข่าวสาร และการใช้งาน
3.งบสภา
คุณพริษฐ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลไทยมีปัญหาในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ อย่างเช่นล่าสุด ตั้งงบ 100 ล้านบาทเพื่อเปลี่ยนฉากหลังสภา โดยคุณพริษฐ์มองว่าอยากให้คิดว่าเงินที่เราใช้เป็นเงินที่เราใช้กับครอบครัวจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมองทั้งการใช้เงิน และการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่คุณพริษฐ์อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนหวงแหนสิทธิมากขึ้น ทั้งในเรื่องรัฐสวัสดิการ และการบริการอื่นๆจากภาครัฐ เพราะเราทุกคนเสียภาษีเพื่อหวังให้ประเทศของเราถูกพัฒนาขึ้น และหวังให้ภาษีของเราถูกนำไปใช้อย่างตรงจุด