ธ.ก.ส. ดึงชุมชนบ้านชีทวน สร้างแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 14 กรกฎาคม 2568 เวลา 23.21 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทอุบลราชธานี 14 ก.ค.-ธ.ก.ส. ยกระดับชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร “บ้านชีทวน” ผ่านโครงการ BAAC Agro Tourism นำอัตลักษณ์ท้องถิ่น ผสมผสานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าพัฒนาชุมชนให้ผ่านมาตรฐานท่องเที่ยว 97 ชุมชน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร 21 เส้นทางทั่วประเทศ ภายในปี 68
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องทั้งระบบในมิติธนาคารยั่งยืนและชนบทยั่งยืน ตามแนวทางการเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture) ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยี นวัตกรรม การแปรรูป และการตลาด การเพิ่มขีดความสามารถลูกค้าในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ผ่านโครงการ BAAC Agro Tourism
ที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนชุมชนที่เต็มไปด้วยศักยภาพในด้านทรัพยากรท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมดึงอัตลักษณ์ของชุมชนมาเป็นจุดเด่นในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสการท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์อันล้ำค่า เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจชุมชนที่ได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยกรมการท่องเที่ยว และสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หรือหมู่บ้านนักปราชญ์ หนึ่งในชุมชนต้นแบบในด้านการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างลงตัว โดยมีโบราณสถานเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี เป็นจุดเด่นของชุมชน ได้แก่ พระพุทธวิเศษ ขัวน้อยบ้านชีทวน ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีธาตุเจริญสุข และวัดพระธาตุสวนตาล โดยชุมชนมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน เช่น การปฏิบัติธรรม การแต่งกายแบบคนท้องถิ่น การแสดงพื้นบ้าน การดำนาแบบดั้งเดิม การย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ การเรียนรู้การใช้สมุนไพรพื้นบ้าน การทำอาหารพื้นบ้าน งานหัตถกรรม และโฮมสเตย์ใกล้ชิดธรรมชาติในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพ อาทิ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ผ้าลายปลาอีด ข้าวเกรียบว่าว ถั่วลิสงคั่วทราย และผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนชุมชนในหลายมิติ ตั้งแต่การวางแผนและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาชุมชน การสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการชุมชนและการตลาด ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการแปรรูปและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อผลักดันชุมชนให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง จนไปสู่การเป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเช็กอินในจังหวัดอุบลราชธานี โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับชุมชนบ้านชีทวน ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ที่ https://www.cheethuan.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook Page อบต.ชีทวน หรือ โทร. 045 210 624 และดูรายละเอียดชุมชนต้องเที่ยว ธ.ก.ส. ได้ที่เว็บไซต์ https://chumchontongtiew.com Youtube : ชุมชนต้องเที่ยว by ธ.ก.ส. Facebook : ชุมชนต้องเที่ยว หรือ Line Official Account BAAC Family
โครงการ BAAC Agro Tourism ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 97 ชุมชน ทั่วประเทศ ในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการแปรรูป การ Redesign และ Repackage การตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งชุมชนใกล้เคียง หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีเส้นทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการ BAAC Agro Tourism แล้วกว่า 12 เส้นทาง อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านบางโรง จังหวัดภูเก็ต และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านสนวนนอก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวผ่านโครงการ BAAC Agro Tourism อีกกว่า 21 เส้นทางทั่วประเทศ ภายในปี 2568.-515.-สำนักข่าวไทย