น้องเมยตายเพราะขึ้นบันไดผิด? เปิดปม "บันไดศักดินา" เตรียมทหารฯ
เพราะใช้บันไดผิด ต้องมีโทษถึงตาย?
นี่คือคำถามที่ยังคงก้องอยู่ในใจของสังคมไทยทุกครั้งที่คดีของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ"น้องเมย" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ตลอด 8 ปีที่ครอบครัวตัญกาญจน์ต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมให้ลูกชายผู้ล่วงลับ
ล่าสุด ศาลทหารได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้รับกลับยิ่งสร้างคำถามใหม่ให้กับสังคม
ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 12 จังหวัดปราจีนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาชั้นฎีกา สั่งลงโทษจำเลยซึ่งเป็นรุ่นพี่นักเรียนเตรียมทหารที่สั่งลงโทษน้องเมยในขณะนั้น โดยให้
จำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี เหตุผลของศาลคือจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อน การให้โอกาสปรับปรุงตัวเพื่อรับใช้ชาติต่อไปน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทว่า สำหรับครอบครัวที่สูญเสียแก้วตาดวงใจ คำตัดสินนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ความยุติธรรม"
จุดเริ่มต้นโศกนาฏกรรม: วัฒนธรรม "บันไดต้องห้าม"
หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นจากเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยอย่าง "การใช้บันไดในตึกนอน"
ภายในโรงเรียนเตรียมทหารมีกฎเหล็กและวัฒนธรรมที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากข้อมูลของอดีตนักเรียนเตรียมทหารระบุว่า
- บันไดกลาง: สงวนไว้สำหรับนักเรียนบังคับบัญชา (คอมแมน) และนายทหารที่ยศสูงกว่าเท่านั้น นักเรียนทั่วไปห้ามใช้เด็ดขาด
- นักเรียนชั้นปีที่ 1: ถูกบังคับให้ใช้ได้เพียงบันไดฝั่งขวาของตึกเท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นเดียวคือเมื่อต้องทำเวรทำความสะอาด
การที่น้องเมยซึ่งเป็นนักเรียนปี 1 ไปปรากฏตัวที่บันไดซ้าย จึงกลายเป็นการกระทำผิดร้ายแรงในสายตาของรุ่นพี่ และเป็นชนวนเหตุของการ "ซ่อมเดี่ยว" หรือการธำรงวินัยที่รุนแรง
"ใครโกหก?" ปมขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลาย
ประเด็นที่ครอบครัวต่อสู้มาโดยตลอดคือ น้องเมยไม่ได้โกหก เอกสารคำให้การที่พี่สาวของน้องเมยนำมาเปิดเผย แสดงให้เห็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
- คำให้การของจำเลย (ผู้สั่งลงโทษ): อ้างว่าน้องเมยบอกว่าได้รับอนุญาตจากรุ่นพี่คอมแมนอีกคน (นตท.รชต) แล้ว แต่เมื่อไปสอบถาม นตท.รชต กลับตอบว่า "ไม่ได้อนุญาต"
- คำให้การของ นตท.รชต: กลับยืนยันว่าตนได้ตอบรุ่นพี่ที่มาถามไปว่า "ไม่โกหก…ได้อนุญาตแล้ว"
คำให้การที่เหมือนหนังคนละม้วนนี้ คือหัวใจสำคัญของคดี เพราะความเชื่อว่า "น้องโกหก" นำไปสู่การลงโทษด้วยท่า "แคงการู" (เอาศีรษะปักพื้นแล้วสลับขา) จนหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
กฎโรงเรียน vs กฎหมายรัฐ: อะไรสำคัญกว่ากัน?
สำหรับครอบครัว การต่อสู้ตลอด 8 ปีไม่ใช่เพียงการหาคนผิด แต่คือการ "ล้างมลทิน" ให้กับลูกชายที่ถูกตราหน้าว่าเป็น "คนขี้โกหก" ดังที่พี่สาวได้กล่าวไว้ว่า
"โกหกใครโกหกได้ แต่ใจเราโกหกตัวเองไม่ได้"
คดีนี้ยังทิ้งคำถามใหญ่ไว้ให้สังคม ว่าระหว่าง "กฎภายใน" ของสถาบันที่ถือว่าการโกหกเป็นความผิดร้ายแรง กับ "กฎหมายบ้านเมือง" ที่ระบุว่าการกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงกว่า สิ่งใดควรมีน้ำหนักเหนือกว่ากัน
โศกนาฏกรรมของน้องเมย ทำให้สังคมต้องหันกลับมาตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยมและการใช้ความรุนแรงในสถาบัน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้วหรือไม่
หรือแท้จริงแล้ว กองทัพและโรงเรียนเตรียมทหารคือ "แดนสนธยา" ที่ความยุติธรรมของรัฐอาจเข้าไปไม่ถึง