เคยใช้ AI ไม่พอ นายจ้างมองหาคนเก่งทั้งเทคฯ-ทักษะมนุษย์ในเรซูเม่
ก่อนหน้านี้ข้อมูลของ World Economic Forum รายงานว่า มีงานกว่า 85 ล้านตำแหน่งที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและ AI ในขณะเดียวกัน ก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพิ่มขึ้นมาถึง 97 ล้านตำแหน่ง ..นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอนาคตการทำงานอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
วัยทำงานที่กำลังมองหางานใหม่ หากอยากเพิ่มโอกาสในการได้งาน และแถมเป็นงานที่ได้รับผลตอบแทนสูงในยุค AI ก็ต้องรู้จักอัปเดต "เรซูเม่" ในการสมัครงานของคุณ ให้เป็น "AI-fluent" หมายความว่า คุณต้องเพิ่มทักษะ อัปสกิล AI แล้วออกแบบและเขียนเรซูเม่ให้เน้นทักษะเหล่านี้ให้โดดเด่นเข้าไว้ เพื่อแสดงให้บริษัทเห็นว่าเรามีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานที่ตลาดงานต้องการ
ทักษะ AI ใดบ้าง ที่ควรใส่ในเรซูเม่ เวลาเราสมัครงาน?
จากรายงานและข้อมูลของ Coursera’s Job Skills Report และ World Economic Forum’s Future of Jobs และรายงานทักษะต่างๆ ..นี่คือทักษะ AI ยอดนิยมที่นายจ้างระบุว่า กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในปี 2025 ซึ่งพวกเขากำลังมองหาในผู้สมัครงาน ได้แก่
1. GenAI (ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ)
2. Applied machine learning (การเรียนรู้เครื่องมือเชิงประยุกต์)
3. PyTorch (ไลบรารีการเรียนรู้เครื่องมือ)
4. Computer vision (การมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์)
5. Reinforcement learning (การเรียนรู้แบบเสริมกำลัง)
6. Machine learning (การเรียนรู้เครื่องมือ)
7. Deep learning (การเรียนรู้เชิงลึก)
8. Supervised learning (การเรียนรู้แบบมีผู้สอน)
9. Artificial neural networks (โครงข่ายประสาทเทียม)
10. Machine learning operations (MLOps: ชุดแนวทางการทำงานเวิร์กโฟลว์และการปรับใช้เครื่องมือ เป็นระบบอัตโนมัติ การเรียนรู้เครื่องมือ และปัญญาประดิษฐ์ )
11. Prompt engineering (วิศวกรรมการป้อนคำสั่งเอไอ)
12. AI literacy (ความเข้าใจเอไอ)
13. Big data (การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่)
14. Critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์)
15. Analytical thinking (การคิดเชิงวิเคราะห์)
16. Resilience (ความยืดหยุ่น/การปรับตัว)
17. Creative thinking (การคิดเชิงสร้างสรรค์)
เครื่องมือ AI ใดบ้าง? ที่ควรโชว์ในเรซูเม่ว่าเราใช้งานเป็น
ควรระบุเฉพาะเครื่องมือและทักษะ AI ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณสมัคร และสอดคล้องกับบริบทของสภาพแวดล้อมการทำงาน ในอุดมคติของคุณ ตัวอย่างเช่น แอปสร้าง GIF ด้วย AI ไม่ควรใส่ในเรซูเม่ เพราะคุณน่าจะใช้เพื่อความสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ว่าคุณทำงานด้านการตลาดและใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย
ตัวอย่างเครื่องมือ AI ที่เน้นการทำงานซึ่งคุณสามารถใส่ในเรซูเม่ในส่วนของทักษะทางเทคนิค ได้แก่ ChatGPT, HubSpot AI, Semrush’s AI tools, Superhuman, Beehiiv, Canva’s MagicDesign AI tools, Copilot เป็นต้น
จากนั้น แนะนำให้ผู้สมัครงานเขียนเรซูเม่ให้เชื่อมโยงถึง "เครื่องมือและทักษะ AI" ของคุณ กับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและผลลัพธ์ทางธุรกิจที่จับต้องได้เสมอ โดยใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากแค่เพียงการทดลองเล่น AI นั้นไม่เพียงพอ นายจ้างต้องการเห็นผลลัพธ์ที่บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญ ยกตัวอย่างเช่น
1. พัฒนากระบวนการ AI แบบกำหนดเองที่ช่วยลดเวลาการผลิตแคมเปญได้ 60%"
2. เพิ่มอัตรา CTR ของอีเมล 25% โดยใช้สคริปต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และการทดสอบ A/B
ทักษะมนุษย์ (Soft Skills) ใดบ้าง? ที่ควรใส่ในเรซูเม่ สำคัญไม่แพ้กัน
จากรายการข้างต้น คุณจะสังเกตเห็นว่าทักษะทางเทคนิค หรือทักษะทางเทคโนโลยี เช่น prompt engineering และ big data มักถูกจับคู่กับ "soft skills" หรือ "power skills" ด้วยเสมอ ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์และการวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และความยืดหยุ่น/การปรับตัว ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้ทักษะ AI ทางเทคนิคเลย
เหตุผลเป็นเพราะ อายุการใช้งานของทักษะทางเทคนิคอยู่ระหว่างสองถึงสามปี ซึ่งหมายความว่าอาจล้าสมัยได้ง่าย ในทางตรงกันข้าม power skills มีอายุการใช้งานที่แทบจะไม่มีที่สิ้นสุดและยั่งยืนมากกว่า
อีกทั้ง ทักษะเหล่านี้สามารถถ่ายทอดได้สูง และไม่ว่าวัยทำงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด หรือตำแหน่งเฉพาะใดๆ ก็มีความจำเป็นต้องมีทักษะมนุษย์เหล่านี้
ผลสำรวจจาก AWS เมื่อปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ 93% วางแผนจะนำ Gen AI มาใช้ในองค์กรของตน เมื่อทุกที่เต็มไปด้วยเอไอ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) จึงกลายเป็นทักษะมนุษย์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากตามมาด้วย
ลองนึกภาพว่าบริษัทต่างๆ กำลังจะนำ AI มาใช้ในทุกแผนก ทุกขั้นตอนการทำงาน นายจ้างเลยมองว่าพนักงานที่สามารถ "คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล" หรือ "ตั้งคำถามกับข้อมูลและสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ" จะสำคัญมาก เพราะแม้ AI จะฉลาดแค่ไหน แต่คนก็ยังต้องเป็นคนตัดสินใจและตรวจสอบข้อมูลจาก AI อย่างถี่ถ้วนนั่นเอง
ผู้สมัครงานที่อยากใส่ทักษะ AI เพิ่มเติม จะเรียนทักษะ AI เหล่านี้ได้เร็วๆ และฟรี ได้จากไหน?
วิธีที่เร็วที่สุดในการที่จะอัปสกิล AI เหล่านี้ รวมถึงทักษะมนุษย์ (Power skills) ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้แก่ผู้สมัครงานได้ไม่ยาก ก็คือ การเข้าร่วม Micro-credentials ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น และมีใบรับรองผลการศึกษาให้ด้วย ทั้งนี้มีผลสำรวจจาก Coursera แสดงให้เห็นว่า การลงเรียนออนไลน์และสำเร็จหลักสูตรในคอร์สขนาดเล็ก ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานใหม่ถึง 94%
ทั้งนี้ วัยทำงานที่กำลังหางานใหม่ สามารถไปอัปสกิลเรียนรู้ทักษะ AI เพิ่มเติมได้ฟรี ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ต่างๆ มากมาย ได้แก่ Codecademy, IBM SkillsBuild, LinkedIn Learning (ถ้าคุณมีบัญชี Premium อยู่แล้ว), Simplilearn เป็นต้น
แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้คุณพัฒนาความเข้าใจ แนวคิดหลักๆ เกี่ยวกับ AI ได้ ในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันที่ยุ่งวุ่นวาย และคุณสามารถทบทวนทักษะเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปริญญา แค่ใบรับรองการจบหลักสูตรที่น่าเชื่อถือก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ดังนั้นเมื่อเรียนมาแล้วก็อย่าลืมทดลองทำไปด้วย เมื่อคุณเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และใช้ AI เพื่อสร้างและเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ๆ สร้างระบบ และแม้แต่ เริ่มต้นธุรกิจเสริม เพื่อเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญของคุณ
ใบรับรองเรียนจบหลักสูตร AI (AI Certifications) แบบไหน? ที่ควรใส่ในเรซูเม่
ตัวอย่างของใบรับรองการเรียนจบหลักสูตร AI ที่เกี่ยวข้อง ที่ควรจะใส่ในเรซูเม่และโปรไฟล์ LinkedIn ของคุณ ซึ่งจะทำให้เรซูเม่ของคุณโดดเด่นมากขึ้น ได้แก่
1. Artificial Intelligence Fundamentals (IBM SkillsBuild)
2. Generative AI Content Creation, by Adobe, via Coursera
3. GenAI for UX Designers, via Coursera
4. Generative AI for Leaders certificate, by Vanderbilt University, via Coursera
5. Google Prompting Essentials Specialization, via Coursera
หากเรซูเม่ของคุณยังหน้าตาเหมือนเดิมโดยไม่มีการเพิ่มเติมทักษะ AI เข้าไป คุณจะถูกแทนที่ได้ง่าย! (ตกงาน) ดังนั้น หากได้รับการเรียนรู้ทักษะ AI รวมถึงการผสมผสานที่สมดุลของทักษะทางเทคนิคและทักษะมนุษย์ ที่จำเป็นในสถานที่ทำงาน ก็จะช่วยให้คุณโดดเด่นในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง: Forbes, weforum, AWS Report, Coursera