ออสเตรเลียกางแผนมูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท ต่อสู้กับวิกฤติสาหร่ายแพร่พันธุ์
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ว่า นายเมอร์เรย์ วัตต์ รมว.สิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย ประกาศแพ็กเกจเงินทุนในเมืองแอดิเลด ทางตอนใต้ของประเทศ หลังการตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งเขากล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็น “เหตุการณ์ที่ร้ายแรงมาก”
ทั้งนี้ การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสาหร่าย หรือ “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เกิดจากแพลงก์ตอน “คาเรเนีย มิกิโมโตอิ” และถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้น สาหร่ายก็ขยายพันธุ์ทั่วพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร จนเข้าสู่แหล่งน้ำใกล้เมืองแอดิเลด
“ในตอนนี้ การแพร่กระจายได้พัฒนาเป็นปรากฏการณ์ที่มีขนาด ระยะเวลา และผลกระทบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งไม่มีสิ่งที่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของสาหร่ายเหล่านี้ได้” รัฐบาลของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ระบุ
ด้านวัตต์ กล่าวว่า เงินทุนของรัฐบาลกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกำจัดสัตว์ป่าที่ตายแล้ว และมอบความช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวและการประมง ตลอดจนใช้มาตรการป้องกันในระยะยาว อีกทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากขึ้น
ตามข้อมูลจากรัฐบาลของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬในภูมิภาคมีสาเหตุ 3 ประการ ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนในทะเล ที่เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ย. 2567 และทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติประมาณ 2.5 องศาเซลเซียส.
เครดิตภาพ : AFP