สพฐ. เดินหน้าลดภาระหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ชูโมเดลแก้หนี้ครูโคราช ขยายผลทั่วประเทศ
.
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา และทีมสถานีแก้หนี้ครูโคราช โดยมีผู้นำสหกรณ์ คณะผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเจ้าหน้าที่สถานีแก้หนี้ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
.
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ นางเกศทิพย์ได้กล่าวให้กำลังใจ และแสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายที่ร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมชื่นชมความสำเร็จในการสร้าง “เครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และสถานีแก้หนี้ครูโคราช” ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ครูและบุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี แต่ยังสามารถดูแลกลุ่มข้าราชการบำนาญที่เปราะบางได้อย่างน่าประทับใจ โดยต้นแบบแห่งความสำเร็จนี้สามารถขยายผลและถ่ายทอดประสบการณ์สู่สถานีแก้หนี้ครูเครือข่ายในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
.
นางเกศทิพย์ระบุว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดภาระหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสานต่อจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล) ที่ดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อความยั่งยืน ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หน่วยงานในพื้นที่ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
.
ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด มีสมาชิกถึง 30,263 คน นับเป็นหนึ่งในสหกรณ์ขนาดใหญ่ของประเทศที่มีระบบบริหารจัดการแบบมืออาชีพและยึดหลักธรรมาภิบาล โดยไม่เพียงให้ความช่วยเหลือสมาชิกในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังแสดงบทบาทผู้นำในการสนับสนุนสหกรณ์อื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ การปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ด้วย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของสหกรณ์เหล่านั้นลงอย่างมาก ส่งผลให้ สมาชิกของสหกรณ์คู่สัญญาได้รับประโยชน์ เช่น ได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม มีโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้ และสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางการเงินที่ยั่งยืน
.
ในโอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายพจน์ เจริญสันเทียะ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และนายบุญธรรม เดชบุญ รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด เข้าร่วมให้ข้อมูลและถ่ายทอดประสบการณ์เชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการหนี้สินของครูให้ครอบคลุมทุกบริบท โดยมีการวางแผนอย่างรอบคอบ คำนึงถึงศักยภาพของสมาชิกแต่ละราย และสร้างระบบติดตามอย่างใกล้ชิดผ่านคลินิกการเงินในพื้นที่
.
ด้านนายสมศักดิ์ จักสาร ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด รายงานว่า สหกรณ์ได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยเหลือสมาชิกผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยึดหลักการหักเงิน 70/30 เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ มีการปรับโครงสร้างหนี้ และขยายระยะเวลาผ่อนชำระสำหรับผู้ที่มีภาระเกินศักยภาพ อีกทั้งยังเปิดบริการคลินิกการเงินเพื่อให้คำปรึกษาเฉพาะราย และมีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงการปรับข้อบังคับเพื่อให้สมาชิกที่ส่งเงินไม่ตรงเวลาบางเดือนได้รับปันผลเฉลี่ยคืนตามสัดส่วนของการส่งเงินตรงเวลา นอกจากนี้ สหกรณ์ยังประสบผลสำเร็จในการช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหาค้างชำระกับธนาคารออมสิน จำนวนทั้งสิ้น 447 สัญญา โดยดำเนินการเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่สมาชิกเหล่านี้ ลดภาระดอกเบี้ยรวมได้ประมาณ 3.8 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการแก้หนี้อย่างเป็นธรรมและเห็นผลจริงในระดับบุคคล
.
การดำเนินงานในครั้งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่โดดเด่นของการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถประสานประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ครูสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ต้องเผชิญกับภาวะหนี้อย่างโดดเดี่ยว ทั้งนี้ สพฐ. โดยการนำของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ยืนยันจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบการศึกษาไทยที่มั่นคงจากพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงของครูทุกคนต่อไป