‘สว.นรเศรษฐ์’ วอนบิ๊กกองทัพแก้ไขวัฒนธรรมความรุนแรงการฝึกซ้อม
'นรเศรษฐ์' มองวัฒนธรรมการใช้ความุรนแรงในการฝึกทหาร เป็นต้นเหตุความสูญเสีย วอนผู้มีอำนาจในกองทัพเร่งแก้
23 ก.ค.2568 - ที่รัฐสภา นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. แถลงกรณีศาลทหารชั้นฎีกา พิพากษาคดีนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตอย่างปริศนา หลังจากถูกธำรงวินัยโดยรุ่นพี่ทหาร 2 นาย ซึ่งศาลสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน รอลงอาญา 2 ปี ว่า ตนเข้าใจว่าเมื่อคำพิพากษาออกมา ทำให้เกิดความรู้สึกหลากหลายในสังคม โดยเฉพาะเรื่องตัวโทษว่าได้สัดส่วนกับความผิดหรือไม่ เพราะการทำให้บุคคลหนึ่งเสียชีวิต แต่โทษที่เกิดขึ้นดูแล้วไม่ได้สัดส่วน อย่างไรก็ตาม กรณีของนายภคพงศ์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2565 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกลไกที่ช่วยตัดอำนาจศาลทหาร และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิด หรือกระทำทรมานต่างๆ แทนที่จะขึ้นศาลทหารต้องมาขึ้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เปรียบเทียบกับกรณีของคดีของ พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล ทหารเกณฑ์ที่ถูกครูฝึกทำโทษซ่อมวินัยบาดเจ็บบอบช้ำหนักจนเสียชีวิต เข้าเกณฑ์พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งผลการพิจารณาของศาล ให้จำคุกจำเลยตั้งแต่ 10 – 20 ปีขึ้นไปตามสัดส่วน จะเห็นว่าโทษจากการถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตซึ่งเป็นกรณีคล้ายกัน แต่เมื่อขึ้นศาลพลเรือนจะเห็นว่าโทษแตกต่างจากศาลทหารเยอะมาก
“นี่คือความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในการฝึกซ้อมของกองทัพ เป็นวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในการฝึกซ้อม ซึ่งวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดซึ่งเกิดขึ้นควบคู่อยู่เสมอ การที่ผู้กระทำผิดยังได้รับการคุ้มครอง ยังสามารถใช้อิทธิพล และยังไม่ได้รับโทษตามสัดส่วนกับความผิดที่เกิดขึ้น จึงทำให้เหตุแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ การซ้อมทรมานพลทหารจนเสียชีวิต ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เฉพาะที่เป็นข่าวกว่า 20 ราย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ต้นเหตุคือวัฒนธรรมความรุนแรงในกองทัพ ผมอยากวิงวอนไปยังผู้มีตำแหน่งในกองทัพ ให้ช่วยแก้ไขวัฒนธรรมความรุนแรงจากการฝึกซ้อมในกองทัพ ผมเชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย หรืออยากเห็นลูกหลานที่ถูกส่งมาเป็นรั้วของชาติ ต้องมีจุดจบเหมือนหลายกรณี”นายภคพงศ์ กล่าว