โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

3 สส.ส้มวิจารณ์สนั่นคดี 'น้องเมย' ความลั่กลั่นกระบวนการยุติธรรม

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ สส.พรรคประชาชน (ปชน.) ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาฎีกาในศาลทหาร กรณี "น้องเมย" ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ อายุ 19 ปี นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) ที่เสียชีวิตอย่างปริศนา ภายหลังถูกรุ่นพี่สั่งธำรงวินัย โดยรุ่นพี่คนดังกล่าว ฎีกาพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท แต่รอลงอาญา 2 ปี เหตุจำเลยยังอายุน้อยและไม่เคยต้องโทษ เพื่อให้โอกาสปรับปรุงตนเองและรับราชการต่อไป

โดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ปชน. ระบุว่า ศาลทหาร กระบวนการยุติธรรมที่ลักลั่น และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของกองทัพ โดยกรณีการเสียชีวิตของ “เมย” ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ อายุ 19 ปี นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหาร หมดสติและเสียชีวิต เมื่อ 17 ต.ค.60 หลังถูกรุ่นพี่สั่งธำรงวินัย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาโดยตลอด โดยเริ่มตั้งแต่

ศาลทหารชั้นต้น (ช่วงปี 2561-2562): ศาลมีคำพิพากษาให้ รอการกำหนดโทษ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ที่ถูกฟ้องร้องในคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนคดีอื่นๆ ที่ครอบครัว "เมย" ภคพงศ์ ฟ้องร้องนั้น พนักงานสอบสวน และอัยการบางส่วนได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ (คำพิพากษาในส่วนคดีแพ่ง ต.ค.2566): สำหรับคดีอาญา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในบางคดี ส่วนในคดีแพ่งที่ครอบครัวน้องเมยฟ้องร้อง กระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้กระทรวงกลาโหมชดใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวตัญกาญจน์

ศาลฎีกา (กรกฎาคม 2568): เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 ศาลทหารสูงสุด มีคำพิพากษาชั้นฎีกา ให้ยืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยมีความผิดทำร้ายร่างกาย ทำโทษโดยฝ่าฝืนคำสั่งกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร และด้วยอายุจำเลยไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับราชการต่อไป จึงลงโทษจำคุกรุ่นพี่ 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี

สรุปก็คือ ผู้กระทำความผิดด้วยการซ้อมทรมาน จนทำให้ “เมย” ถึงแก่ความตาย ได้รับโทษเพียงจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี เท่านั้นเอง

เมื่อนำเอามาเปรียบเทียบกับกรณีของการเสียชีวิตของ พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล อายุ 18 ปี ที่ค่ายนวมินทร์ จ.ชลบุรี ที่ถูกครูฝึก และรุ่นพี่ ซ้อมทรมานจนถึงแก่ความตาย ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 มีคำพิพากษาว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 13 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 มาตรา 5 และมาตรา 35 วรรคสาม พิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 (ครูฝึก) 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 (ครูฝึก) 15 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 13 (ผู้ช่วยครูฝึก) คนละ 10 ปี

เมื่อเปรียบเทียบผลแห่งคดีของทั้ง 2 กรณี ก็สมควรที่ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตถึงความลักลั่นของการพิจารณาคดีของศาลทหาร และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างมาก ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชน ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างมาก และทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากคำพิพากษาที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวแล้ว ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการต่อสู้คดีของครอบครัวตัญกาญจน์ ต้องเผชิญกับการขัดขวาง และการข่มขู่มาโเดยตลอด การเข้าถึงหลักฐานเอกสารต่างๆ ก็ยาก พยานที่จะมาให้ข้อมูลเพื่อความเป็นธรรมแก่คุณเมย ก็ถูกข่มขู่ เรียกได้ว่ากระบวนการยุุติธรรมถูกบ่อนทำลายมาตลอดเส้นทางในทุกขั้นตอน จนกระทั่งมีคำพิพากษา

"ผมยืนยันว่า การปฏิรูปกองทัพ จำเป็นต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องก่อน นั่นก็คือ“การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของกองทัพ” ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559" นายวิโรจน์ ระบุ

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ความยุติธรรมที่ไม่ลักลั่น การยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเท่านั้น ที่จะทำให้กองทัพได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ในขณะเดียวกันก็จะเป็นกลไกในการควบคุมไม่ให้ทหารนอกรีต กระทำการอันป่าเถื่อนโหดร้ายลุแก่อำนาจ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติภารกิจทางการทหารของกองทัพมีความเคร่งครัดทางวินัย เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หากมีการทุจริต ทหารต้องขึ้นศาลพลเรือน!

ขณะที่ ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม. พรรค ปชน. เปิดเผยถึงกรณีวันนี้ศาลทหารสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดีการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ว่า กว่า 8 ปีของคดีน้องเมยที่ศาลตัดสินบนข้อกังขาเต็มไปหมด ตนในฐานะ สส. และศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารอดรู้สึกเจ็บลึกกับคำพิพากษานี้ไม่ได้ รุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องจนตาย แต่ศาลทหารกลับให้จำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และให้ “รอลงอาญา” เพราะเห็นว่าควรกลับไปรับราชการต่อ นี่ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่คือสัญญาณเตือนว่าศาลทหารและระบบระเบียบที่ล้าหลังของกองทัพ ต้องปฏิรูปโดยด่วน

“ในฐานะคนเคยอยู่ในระบบนี้ ผมเข้าใจดีว่าคำว่า ‘ระเบียบ วินัย พี่น้อง’ สำคัญ แต่ถ้าความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ หากความอยุติธรรมถูกปกป้องด้วยเครื่องแบบ แล้วเราจะหล่อหลอมผู้นำกองทัพแบบไหนออกสู่สังคม” ร.ท.ธนเดช ระบุ

ร.ท.ธนเดช ระบุอีกว่า ขอเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมแสดงความจริงใจ ด้วยการจัดให้มีการเยียวยาแก่ครอบครัวของคุณภคพงศ์อย่างโปร่งใสและเร่งด่วน ศาลทหารต้องเปิดให้ตรวจสอบและปฏิรูปโครงสร้าง ตามข้อเสนอของก้าวไกลมาถึงพรรคประชาชน คือคดีอาญาที่ทหารเป็นคู่ความ ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติผ่านศาลปกครองและศาลยุติธรรม โรงเรียนเตรียมทหารต้องยกเครื่องวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงและพร้อมพัฒนาการสร้างคนให้ทันยุคสมัย ต้องมีระเบียบป้องกันและคุ้มครองสิทธินักเรียน ไม่ให้ใครต้องตายโดยไม่มีใครรับผิดหรือไม่ได้รับความยุติธรรม

“วันนี้ผมไม่ได้พูดแค่ในฐานะ ส.ส. แต่พูดในฐานะรุ่นพี่คนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นรุ่นน้องต้องตายเปล่าอีกคน” ร.ท.ธนเดช ระบุ

ส่วน นายชยพล สะท้อนดี สส.กทม. พรรค ปชน. ระบุว่า ผลการพิจารณาคดีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร พิจารณาคดี 8 ปี ตัดสินโทษ 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี ที่ผ่านมา กมธ.ทหาร ทำงานทางความคิด พูดคุย และแนะนำกองทัพตลอดมาเรื่องการรักษาสิทธิ์ของกำลังพล เรื่องความสำคัญของสิทธิมนุษยชนของกำลังพล ที่ถึงแม้เราจะเน้นย้ำไปทางพลทหาร เพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในกองทัพ แต่ก็จะพูดเสมอว่าไม่ว่าจะเป็นนายทหารชั้นยศไหนก็ควรต้องไปรับการคุ้มครองไม่ต่างกัน

กรณีของ#น้องเมย ผมในฐานะของศิษย์เก่า รร.ตท. ไม่สามารถรับได้กับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น สถาบันแห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่จะจบไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมต่อในอนาคต มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ปลูกฝังนิสัยการเป็นนายทหารที่ดี มีความรับผิดชอบต่ออำนาจ ต่อหน้าที่ทหาร-ตำรวจอาชีพ ต่อสิทธิมนุษยชน ต่อภาษีของประเทศ ต่อระบอบประชาธิปไตย แต่กลายเป็นสถานที่แห่งนี้เองที่กลับเกิดการใช้อำนาจอย่างขาดความยั้งคิดจนเกิดการเสียชีวิตขึ้นได้

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตัดสินโดยศาลทหาร ที่ญาติผู้เสียชีวิตไม่สามารถตั้งทนายได้ มีเพียงอัยการว่าความแทน แต่ฝั่งทหารสามารถตั้งทนายได้ จนได้บทสรุปออกมาว่า “ลงโทษจำเลยไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับใช้ชาติต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า” แล้วไหนจะเรื่องของอวัยวะที่ญาติไม่สามารถรับคืนได้ เราจะเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร

"ผมถามจริง ๆ พวกคนที่ขัดขวางไม่ให้ตั้งคำถาม ไม่ให้ตรวจสอบกองทัพและโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะบอกว่ากองทัพและสถาบันจะเสียชื่อเสียง คุณคิดว่าคุณรักวงการนี้แค่คนเดียวเหรอ คุณคิดว่ารักด้วยการปกปิด แทนที่จะช่วยกันพัฒนาให้วงการดีขึ้น มันคือทางออกที่ดีของวงการที่เรารักจริง ๆ เหรอ" นายชยพล ระบุ

นายชยพล ระบุอีกว่า ไม่ได้พยายามเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษจนชีวิตพัง แต่เราก็ต้องถามด้วยเหมือนกันว่าเราควรปล่อยให้คนที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจการใช้อำนาจจนเกิดการเสียชีวิตเป็นนายทหาร-ตำรวจต่อไปด้วยเหรอ มันปลอดภัยหรือไม่กับการให้คนแบบนี้สามารถจับอาวุธและมีอำนาจต่อไปโดยที่ยังไม่รับโทษที่เหมาะสมต่อวัยและบริบทความผิดที่เกิด แล้วทำไมคดีนี้ไม่สามารถเข้ารับการพิจารณาด้วยมาตรฐานที่เหมือนกับคนทั่วไปได้ ทำไมต้องเป็นศาลทหาร

รร.ตท. ก็คือโรงเรียนม.ปลาย ผบ.รร.ตท.ในยุคที่ผมอยู่เคยพูดไว้ว่าถึงแม้เราจะเป็นนักเรียนเตรียมทหาร แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการเป็นทหารคือการเป็นนักเรียน การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพก็สำคัญไม่ต่างจากการเป็นนายทหารที่ดี หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมอื่น ที่รุ่นพี่ลงโทษรุ่นน้องจนเกิดการเสียชีวิต คิดว่าสภาพโรงเรียนจะเป็นอย่างไร? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมคนถึงสอบเข้ารร.ตท.กันน้อยลง ไปดูยอดคนสอบเข้าโรงเรียนที่สลักไว้ที่ป้ายหน้าห้องสมุดตรงข้ามหอประชุมโรงเรียนเตรียมทหารได้เลย จากสมัยที่ผมสอบที่มี 2-3 หมื่นคน ทุกวันนี้เหลือเท่าไหร่

ฝากไปถึงผู้บังคับบัญชา อย่ามาพูดใหญ่พูดโตว่าดูแลบุคลากรอย่างดี รุ่นน้องโรงเรียนตัวเองยังให้ความยุติธรรมไม่ได้ แล้วไม่ต้องมาพูดจาน้อยใจว่าคนอยากเป็นทหารน้อยเพราะกลัวลำบาก ความจริงคือเขากลัวเป็นเหยื่อของระบบมากกว่า และฝากไปถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของนักเรียนทหารทุกสถาบันที่ชอบมาแซะผมในช่องทางต่าง ๆ ว่าทำลายชื่อเสียงของวงการ พวกคุณไม่รู้หรอกว่าลูกหลานพวกคุณต้องเสี่ยงชีวิตกับเรื่องอะไรอยู่บ้าง

มันไม่ใช่ความเสี่ยงทางการงาน แต่คือความเสี่ยงจากความอันตรายของระบบที่ไม่ยอมจะปรับตัว พวกคุณแค่ต้องการปกป้องความภูมิใจที่ได้มีลูกหลานเป็นทหารโดยไม่สนใจเลยว่ากำลังส่งพวกเขาไปเจอกับอะไร พวกคุณควรต้องช่วยตั้งคำถามด้วยซ้ำเพื่อให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยจนเป็นนายทหาร-ตำรวจที่ดีต่อในอนาคตได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาต้องเสี่ยงชีวิตกับความบกพร่องของระบบที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

เอสซี กางยุทธศาสตร์ ‘3B’ ฝ่าวิกฤติอสังหาไร้สัญญาณฟื้น

46 นาทีที่แล้ว

สัมพันธ์'บ้านโล่สถาพรพิพิธ-บิ๊กเนมภท.' ไม่ใช่คนอื่นไกล?

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘ทักษิณ’ ประกาศ กลางวง พรรคร่วมฯ ‘เลือกตั้ง’ แล้ว จับมือกันต่อ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ถึงเวลาที่ ธปท.จะ ‘เปิดประตูหอคอย ฟังเสียงบ้านนา’ ไม่ใช่แค่สนทนา ในกรอบสถิติ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม