เครือข่ายต้านกาสิโนบุกทำเนียบ ร้อง ‘รัฐบาล-เพื่อไทย’ ถอนร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เหตุประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับ
ภาคีเครือข่ายต้านภัยกาสิโนและพนันออนไลน์ ซึ่งนำโดยนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 เรื่องพนันออนไลน์ ออกจากกระบวนการทางกฎหมายอย่างถาวร ทั้งนี้มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว
โดยนายธนากร กล่าวว่า รัฐบาลยอมรับว่าประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และร่างแก้ไขพ.ร.บ.การพนันที่รัฐบาลเสนอนั้น ไม่อาจเดินหน้าไปต่อบนความเสี่ยงต่อความไม่เข้าใจและความไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ.การพนันก็มีขึ้นเพื่อให้การพนันออนไลน์สามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นฟืนไฟที่จุดความขัดแย้งในสังคม ขณะที่ประเทศมีปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ มากมาย ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเหล่านี้ออกจากกระบวนการทางรัฐสภา เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม และเพื่อความสง่างามในทางนโยบาย เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง พรรคเพื่อไทยควรเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าให้ประชาชนตัดสินเพื่อความชอบธรรม.
นายธนากร กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว แต่กระบวนการทางรัฐสภาไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร ขณะที่ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ยังจ่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระแรก ดังนั้น ขอให้ น.ส.แพทองธารในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำใหญ่ ใช้เสียง สส.ที่มีอยู่จำนวนมาก เสนอญัตติขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภา เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และเป็นผลดีต่อรัฐบาลในเวลานี้
ด้านนายวศิน พิพัฒนฉัตร เครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และทีมทนายจากเพจที่ปรึกษากฎหมายของชาวบ้าน กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไปจากการพิจารณาของรัฐสภา เพราะร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารและการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการรวมศูนย์ คือมีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร มีคณะกรรมการบริหาร และสำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร โดยไม่มีองค์ประกอบขององค์กรที่จะมาทำหน้าที่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่สังคม หรือแม้แต่การจัดสรรกองทุนเพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น