กาฬสินธุ์ระดมความคิดเห็นขับเคลื่อนการพัฒนาเขื่อนลำปาว"ทะเลอีสาน"เป็นแหล่งท่องเที่ยว
กาฬสินธุ์ ระดมความคิดเห็นขับเคลื่อนการพัฒนาเขื่อนลำปาว “ทะเลอีสาน” เป็นแหล่งท่องเที่ยว เติมเต็มศักยภาพให้กับจังหวัด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่หอประชุมเทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมพิจารณาแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่เขื่อนลำปาว โดยมีนายสรายุทธ เชื้ออ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูล สำนักงาน จ.กาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ที่ปรึกษาหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมอุทยานฯ ธนารักษ์พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการประชุมพิจารณาแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่เขื่อนลำปาวครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของส่วนราชการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ในการดูแลและใช้ประโยชน์ในพื้นที่รอบๆเขื่อนลำปาวและอ่างเก็บน้ำลำปาว ซึ่งที่ผ่านมาอาจะเห็นว่ามีข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง จึงใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ มีข้อติดขัดเรื่องระเบียบกฎหมาย จึงได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ ในการที่จะร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวในทุกมิติ ตามกฎ ระเบียบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เติมเต็มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด
ด้านนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาวกล่าวว่า ถึงแม้เขื่อนลำปาวจะมีภารกิจด้านการกักเก็บน้ำบรรเทาปัญหาอุทกภัยแล้ว ยังระบายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอีกด้วย โดยในส่วนของการประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวนั้น สามารถทำได้ แต่ผู้ประกอบการนั้นๆ ต้องได้รับใบอนุญาตและต้องปฏิบัติตามระเบียบของส่วนราชการที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้เกิดปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ คน สัตว์ ธรรมชาติ ระบบนิเวศน์อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
ขณะที่นายสรายุทธ เชื้ออ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูล สำนักงาน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เขื่อนลำปาว ในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสันทนาการได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการประชุมครั้งนี้มีข้อสรุปดังนี้ ในส่วนกรณีแพท่องเที่ยวและแพร้านอาหารนั้น ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อน และต้องมีรูปแบบการดำเนินกิจการที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีระบบจัดการของเสียเพื่อไม่ให้ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และให้อำเภอรวบรวมคำขออนุญาตของพื้นที่ เสนอไปยังจังหวัด โดยแยกการเสนอออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแพร้านอาหาร เพื่อเสนอไปยังกรมชลประทานเพื่อพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตต่อไป
นายสรายุทธกล่าวอีกว่า สำหรับการขออนุญาตเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการแพต่างๆ เมื่อได้รับอนุญาตจากชลประทานแล้ว ให้เสนอขอเช่าต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จากนั้นให้รวบรวมคำขอส่งไปยังกลุ่มอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อพิจารณาตามลำดับ ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะได้จัดทำร่างประกาศโซนนิ่ง (Zoning) พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์สัตว์ป่าต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างดังกล่าวให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพิจารณาลงนามในประกาศ
“การแก้ไขระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับไปพิจารณาและหารือในรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปลดล็อคระเบียบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และไม่กระทบกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าตามกฎหมาย, ในกรณีราษฎรรายใดที่มีที่ดิน ในกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในเขตประกาศเขตทำล่าสัตว์ป่าลำปาว สามารถยื่นคำขอในการตรวจสอบแนวเขตมายังเขตมล่าสัตว์ป่าลำปาว เพื่อดำเนินการรวบรวมคำขอและจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตต่อไป ทั้งนี้อยู่ทางจังหวัดจะได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งไปยังส่วนราชการหน่วยงานต่างๆเพื่อพิจารณาดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายสรายุทธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ชื่อเป็นทะเลอีสาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สำคัญ มีหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายแห่งร่วมกันดูแล เช่น กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว ขณะที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เข้าไปใช้ประโยชน์ และประกอบอาชีพ ทำให้บางครั้งซึ่งอาจมีข้อติดขัด ไม่เข้าใจ ไม่ต่างกับเป็นพื้นที่ทับซ้อน การขออนุญาตใช้ประโยชน์ล่าช้า ติดขัด การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการคลี่คลายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้หาทางออกร่วมกัน ในการผลักดันให้เขื่อนลำปาวและบริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และเติมเต็มศักยภาพให้จังหวัด ในส่วนของการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากธุรกิจภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน