หนี้ครัวเรือนลดหลังสินเชื่อชะลอ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจและความกังวลจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ การจ้างงาน และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยพุ่งสูงขึ้นแตะระดับใกล้ 90% ซึ่งนับเป็นหนึ่งในระดับที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
แม้ในปี 2568 จะเริ่มเห็นสัญญาณของการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเล็กน้อย แต่ปัญหานี้ยังคงเป็น “โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย” ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว หนี้ที่อยู่ในระดับสูงไม่เพียงแต่เป็นภาระต่อครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังกดทับการบริโภคภายในประเทศ เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย และกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)ระบุถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2568 ลดลงมาอยู่ที่ 87.4% คิดเป็นมูลค่า 16.35 ล้านล้านบาท หดตัว -0.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรก! ตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในปี 2555 หลังจากชะลอตัวลงต่อเนื่องในหลายไตรมาสก่อนหน้า ตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ทยอยปรับด้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยสินเชื่อเพื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ หดตัวรุนแรงถึง -10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามสภาวะตลาดยานยนต์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนประเภทอื่นๆ ชะลอลงทั้งหมด
ทั้งนี้ หากพิจารณาการหดตัวของสินเชื่อครัวเรือนตามประเภทของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ พบว่า “การหดตัวเกิดขึ้นในสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินเอกชน” เป็นหลัก ตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์และบริษัทเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ภาคครัวเรือนทั้งหมด
โดยยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์หดตัวถึง -3.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของบริษัทเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล หดตัว -1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์ เป็นแหล่งปล่อยสินเชื่อหลักที่ยังคงเติบโต ส่งผลช่วยให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไม่หดตัวมากนัก
ซึ่งในระยะข้างหน้าสถาบันการเงินของรัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงให้หนี้ครัวเรือนไทยไม่หดตัวลงมาก จากมาตรการสินเชื่อต่างๆ ของภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องติดตามการเติบโตของสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพของสินเชื่อที่จะมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยต่อไป
อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะอยู่ในช่วง Deleveraging หรือการลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ภายหลังภาระหนี้ต่อจีดีพีที่สูงขึ้นมากจากผลกระทบของโควิด-19 โดยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในรอบวัฏจักรนี้อาจไม่ได้สะท้อนสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยเช่นในอดีต เพราะ Deleveraging ในรอบนี้กำลังแสดง “อาการความเปราะบาง” ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ที่ยังมีแผลเป็นเศรษฐกิจเหลืออยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไข
ในภาพรวมSCB EIC ชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำก็เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีทยอยปรับลดลง โดยกระบวนการลดหนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ครัวเรือนปลดล็อกจากปัญหาหนี้สินได้ดีมากนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนจะฟื้นตัวช้า นอกจากนี้การเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้น ตามความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และมีแนวโน้มกดดันการบริโภคภาคเอกชนไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังโควิด-19.
ครองขวัญ รอดหมวน