อาชีวศึกษา ‘จีน-อาเซียน’ จับมือภาคธุรกิจ ผลิตบัณฑิตพร้อมทำงาน-ตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
หนานหนิง, 20 ก.ค. (ซินหัว) — เซียวอวี่หลาน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเศรษฐศาสตร์และการค้ากว่างชี ซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรในไลฟ์สดโดยใช้ภาษาอังกฤษที่มีประสบการณ์มากมาย โดยในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เซียวจะไลฟ์สดจำหน่ายสินค้าของเล่นสไตล์จีนให้ลูกค้าชาวต่างชาติทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 2-3 ชั่วโมง โดยเฉพาะกล่องสุ่มที่ได้รับความนิยมมากในตลาดอาเซียน
ทั้งนี้ หลักสูตรที่เซียวเรียนยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมไลฟ์สดที่กำลังมาแรงในจีน โดยปัจจุบัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เซียวเชื่อว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนจะยิ่งสร้างโอกาสให้เธอมากขึ้น
หลี่จื้อหัว ผู้รับผิดชอบฝ่ายการตลาดของบริษัท หนานหนิง เชียนเฉิง โยวหนี เน็ตเวิร์ก เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยฯ เปิดช่องทางการขายของเล่นจีนในตลาดอาเซียนทางออนไลน์ โดยบริษัทฯ จัดเตรียมฐานฝึกงานให้วิทยาลัยฯ ส่วนวิทยาลัยฯ ใช้ความสามารถด้านการออกแบบช่วยออกแบบสินค้าให้บริษัทฯ เป็นห่วงโซ่นิเวศที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและการศึกษาเข้าด้วยกัน
หลี่ระบุว่าโมเดลความร่วมมือ “อุตสาหกรรม-การศึกษา-การวิจัย-การใช้งาน” ช่วยเพิ่มทักษะในทางปฏิบัติให้กับผู้เรียน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของสินค้า โดยบริษัทฯ จำหน่ายกล่องสุ่มของเล่นในราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อยหยวน หลังการไลฟ์สดที่เป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯ กับบริษัทฯ ดำเนินมากว่า 6 เดือน ก็ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสะสมของสินค้ากลุ่มนี้ทะลุ 6 ล้านหยวน (ราว 27 ล้านบาท) แล้ว
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซผ่านไลฟ์สดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีโครงการความร่วมมือใหม่ๆ เกิดขึ้นในภาคอาชีวศึกษาจีน-อาเซียน โดยครอบคลุมทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำลังค่อยๆ เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในปี 2024 เย่เจิ่งชิง นักศึกษาชาวอินโดนีเซีย ซึ่งสำเร็จการศึกษาหลัง ใช้ชีวิตในจีน 5 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทจีนในอินโดนีเซีย เปิดเผยว่าตนเริ่มต้นเรียนสาขาอีคอมเมิร์ซที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาหลิ่วโจวในปี 2019 จากนั้นจึงศึกษาต่อสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี การเรียนตลอด 5 ปีทำให้เธอเข้าใจในอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและตลาดภูมิภาคอย่างลึกซึ้ง
บุญญิศา ปินะเต นักศึกษาชาวไทยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งจบการศึกษาในสาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ เคยเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมช่วงปิดเทอมระหว่างนักเรียนจีนและไทย ซึ่งร่วมกันจัดโดยบริษัทจีนและมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลิ่วโจว ก่อนที่บุญญิศาจะได้ไปฝึกงานแบบลงพื้นที่จริงเป็นเวลา 7 เดือนในเมืองหนานทง ด้วยทักษะการปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยมและความสามารถทางภาษาจีน ต่อมาบุญญิศาได้รับตำแหน่งหัวหน้าสายการผลิตในฝ่ายกราฟิกของแผนกผลิตของบริษัทฯ
เหวยหลินหัว ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลิ่วโจว เปิดเผยว่าในปี 2021 มหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมมือกับหลิ่วกง กรุ๊ป (Liugong Group) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดตั้ง “วิทยาลัยช่างฝีมือสากล” โดยใช้โมเดลการสั่งผลิตและจ้างงานบุคลากรล่วงหน้า เพื่ออบรมบุคลากรด้านบริการหลังการขายให้กับตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของหลิ่วกง กรุ๊ปโดยเฉพาะ
หลังจากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยฯ ได้นำไปขยายใช้ในอินโดนีเซีย เวียดนาม และในปี 2025 นี้ได้ต่อยอดไปยังกานาในแอฟริกา เหวยระบุว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้เริ่มต้นโครงการดังกล่าวในระดับปริญญา โดยสำหรับอนุปริญญาจะเรียนสามปี และสำหรับปริญญาตรีสายอาชีพจะเรียนสี่ปี ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมชั้นเรียนแบบสั่งผลิตล่วงหน้าของอินโดนีเซีย หลังจบการศึกษาจะมีรายได้สูงกว่าบัณฑิตปริญญาตรีทั่วไปในประเทศของตน
ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้จัดงานนิทรรศการศึกษานานาชาติ “เรียนต่อกว่างซี” จำนวน 27 ครั้งในต่างประเทศ และปัจจุบันกว่างซีได้จัดตั้ง “วิทยาลัยช่างฝีมือสมัยใหม่จีน-อาเซียน” จำนวน 17 แห่งใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้สร้างกลไกความร่วมมือที่รอบด้านในด้านการฝึกอบรมทักษะ การแลกเปลี่ยน และการรับรองบุคลากร ก่อให้เกิดผลสำเร็จในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนครูจากอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ไทย เมียนมา มาเลเซีย และบรูไน รวม 28 คน ได้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในกว่างซี และผ่านการทดสอบสำเร็จ โดยผู้เข้าอบรมได้รับใบรับรองคุณวุฒิทักษะวิชาชีพระดับ 4 ในสาขาต่างๆ ได้แก่ พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า พนักงานอีคอมเมิร์ซ และเชฟขนมอบสไตล์จีน