มท.1 สั่งการมหาดไทย-ปภ. ใช้ War room ติดตามสภาพอากาศ-สถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง รับมือ 'พายุวิภา' เตือนตระหนักแต่ไม่ตระหนก
วันนี้ (19 ก.ค. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และการติดตามการคาดการณ์ผลกระทบจากพายุวิภา และสภาวะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค. 68 โดยคาดการณ์ว่าพายุวิภาจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 22 ก.ค. 68 ซึ่งจะทำให้เริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น ในช่วงค่ำของวันที่ 20 ก.ค. 68 ในพื้นที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม จากนั้นในช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 68 พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกหนักมาก และอาจส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีร่องความกดอากาศต่ำ (ร่องฝน) พาดผ่านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงความชื้นจากทะเลอันดามันที่จะส่งผลให้ทั่วทุกภาคเกิดฝนตกหนัก
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และการติดตามการคาดการณ์ผลกระทบจากสภาวะอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ปฏิงานติดตามสภาพอากาศและประเมินร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยใช้ห้องปฏิบัติการ War room ตลอด 24 ชั่วโมง และสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ติดตามสถานการณ์จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และไม่หลงเชื่อข่าวปลอมที่อาจเกิดการเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนได้รับข้อสั่งการจากนายภูมิธรรม และสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน พร้อมติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น - ลงของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก และเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึง ความพร้อมของระบบสื่อสาร เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่ที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปภ. โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดประชุมห้องปฏิบัติการ (War Room) เพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วยผู้แทนจาก สทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน สสน. Gistda และศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อติดตามการคาดการณ์ผลกระทบจากพายุวิภา และสภาวะอากาศ