‘เศรษฐกิจ’ ยังไม่มีความหวัง ทำคนไทยกลัว ‘ตกงาน’ ชะลอการใช้จ่าย
เพราะยังเห็นวี่แววว่า ‘เศรษฐกิจจะดีขึ้น’ แถมมองประเทศกำลังไปผิดทาง ทำให้คนไทยกังวลกลัว ‘ตกงาน’ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นกับคน ‘ทุกกลุ่มรายได้’ ทำให้ชะลอการซื้อไม่เฉพาะของชิ้นใหญ่ แต่ลามไปถึง ‘ของใช้ทั่วไป’
‘บริษัท อิปซอสส์ จำกัด’ ได้จัดทำรายงาน What Worries Thailand H1 2025 ศึกษาถึงประเด็นความกังวลของคนไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2568 พบว่า แม้ ‘ปัญหาสังคม’ จะเป็นประเด็นที่คนไทยมีความกังวลเป็นอันดับต้นๆ แต่มุมมองต่อเศรษฐกิจของคนไทย ก็มีความ ‘กังวลเพิ่มขึ้น’ อย่างมีนัยสำคัญ
โดย 65% มองสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันย่ำแย่ลง เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำนี้ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นใน ‘ทุกกลุ่มรายได้’ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อครอบครัวต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน
ชะลอการใช้จ่ายและกลัวตกงานเพิ่มขึ้น
มุมมองดังกล่าว ทำให้คนไทย 53% ชะลอและลังเลที่จะจับจ่าย โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้านหรือรถยนต์ ฯลฯ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และความกังวลยังขยายไปถึงการซื้อของใช้ในบ้านทั่วไป โดย 46% ของคนไทยรู้สึกไม่สบายใจในการซื้อของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 10%
การชะลอและการลังเลที่จะใช้จ่ายนี้ เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางที่มีรายได้ต่อครอบครัวประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน
ขณะเดียวกัน‘การว่างงาน’ เป็นอีกประเด็นที่คนไทยกังวลมากขึ้นเช่นกัน โดยความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงในงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- 59% ระบุว่า รู้จักคนที่เพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- 28% แสดงความกังวลว่า ตนเองอาจประสบปัญหาการ ‘ตกงาน’ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
- 48% มี ‘ความมั่นใจน้อยลง’ เกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตนเอง ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปีก่อนถึง 12%
- 54% มั่นใจน้อยลงกับความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุหรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15%
เมื่อถามถึงความหวังสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือไม่
37% ของคนไทยคาดการณ์ว่า สถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ลดลงถึง 17% จากปีที่แล้ว ขณะที่ 59% บอกต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี เศรษฐกิจถึงจะกลับมา
มองประเทศกำลังมาผิดทาง ขอมีผู้นำกล้าแหกกฏแก้ปัญหา
นอกจากประเด็นความกังวลแล้ว การสำรวจยังได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศ รวมถึงความเปราะบางของสังคมและประเทศ โดย
56% เห็นว่า ไทยกำลังมาผิดทาง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13%
66% เชื่อว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ใน ‘ภาวะวิกฤต’
60% มองว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะถดถอย
และเมื่อดู ‘ดัชนีชี้วัดสังคมวิกฤตของอิปซอสส์’ (Ipsos Society is Broken Index) พบว่า ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 77% นับเป็นอัตราสูงสุดจาก 31 ประเทศที่ทำการสำรวจ ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกของดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ 61%
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนเรียกร้องหาผู้นำที่มีความโดดเด่นและมีอำนาจในการจัดการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดย
79% เรียกร้องให้มีผู้นำที่กล้าหาญพอจะ ‘แหกกฎ’ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ
77% สนับสนุนผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อทวงคืนประเทศจากกลุ่มคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดจากผู้นำทางการเมือง
แนะแบรนด์ต้องปรับตัว
ทั้งนี้ อิปซอสส์ได้ให้คำแนะนำกับแบรนด์เพื่อปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์สำหรับรับมือกับผลกระทบจากความกังวลของคนไทยที่ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดและภาคธุรกิจใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การคืนกำไรสู่สังคมและสร้างผลกระทบเชิงบวก: เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทสนับสนุนและคืนกลับสู่สังคม จะสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์นำไปสู่การสร้างความจงรักภักดีและการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า
2.สร้างความเชื่อมั่นผ่านความโปร่งใส: การดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาลที่ดีจะส่งเสริมประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกค้า เพราะเป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ ดังนั้นหากแบรนด์หรือองค์กรมีธรรมาภิบาลที่ดี คนก็พร้อมสนับสนุน ทำให้ไม่ต้องไปแข่งขันด้วย ‘สงครามราคา’ หรืออัดโปรฯแรง ๆ