ตลท. เกาะติดเจรจาภาษีทรัมป์ ยันมีมาตรการรับมือตลาดผันผวน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เกาะติดเจรจาภาษีการค้า รับมีผลกระทบเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นไทย ย้ำข้อดีประกาศเลื่อนกำหนดเป็นวันที่ 1 ส.ค. 2568 ทำให้ไทยมีเวลาเตรียมความพร้อม แนะนักลงทุนตั้งสติ-ดูข้อมูลทางการให้เพียงพอ ยันหากสถานการณ์ผันผวนมีเครื่องมือ-มาตรการรองรับ แต่ใช้บ่อยอาจจะไม่ดี เผยการใช้เกณฑ์ Call margin-Forced sell เป็นการบริหารความเสี่ยงโบรกเกอร์ ยืนยันไม่ได้เอื้อนักลงทุนรายใด
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า นโยบายภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ และล่าสุดได้มีการประกาศเลื่อนบังคับใช้จากวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากหากอัตราภาษีเทียบกับคู่แข่งของไทยสูงกว่า จะส่งผลให้ธุรกิจบางเซ็กเตอร์อาจจะลำบาก แต่หากไทยต่ำกว่าถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ดี จะต้องรอติดตามข่าวจากทางการที่ชัดเจนอีกครั้ง
“มาตรการของเราที่มีอยู่จะรีแอกต์ตลอดเวลาอาจจะลำบาก เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่เราต้องตั้งสติฟังข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลจากทางการ ส่วนมาตรการเราก็มีกลไกรองรับตลาดอยู่แล้วหากมีความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละเซ็กเตอร์ก็คงต้องรอดูว่าจะมีผลต่อเซ็กเตอร์ไหน และตัดสินใจลงทุน แต่เท่าที่ฟังรองนายกรัฐมนตรีดูโทนไปในทางที่ดี แต่ก็คงต้องรอสหรัฐ”
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และโครงการกลยุทธ์ ตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) กล่าวว่า ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนมิถุนายน 2568 ดัชนีหุ้นไทยติดลบ 5.2% จากปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งเรื่องสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ ทั้งเรื่องความขัดแย้งกัมพูชาและไทย รวมถึงประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง
หากมองไปข้างหน้ายังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาอัตราภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยหรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน ตลท.นั้น เบื้องต้นผลกระทบโดยตรงกับรายได้ บจ.อาจจะน้อย แต่อาจต้องติดตามดูผลทางอ้อมด้านอื่นด้วย แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากตลาดได้รับรู้ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าสหรัฐได้มีการเลื่อนกำหนดเส้นตายจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยไทยจะได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการทำข้อมูลเจรจา ประกอบกับก่อนหน้ามี 2-3 ประเทศที่มีการเจรจาไปแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร จีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นข้อดีที่ไทยจะสามารถคาดการณ์และเป็นตัวอย่างรูปแบบโมเดลในการเจรจา กรณีที่แย่ที่สุด หรือดีที่สุด จะเป็นอย่างไรที่ไทยนำมาเป็นตัวอย่างหรือไอเดียได้
ส่วนประเด็นที่มีกระแสสหรัฐจะมีการเรียกเก็บภาษี Tariffs กับกลุ่มประเทศ BRICS เพิ่มเติมอีก 10% ซึ่งจะส่งผลให้ไทยโดนภาษีอัตรา 46% นั้น มองว่าอาจจะต้องรอฟังข้อมูลชัดเจนจากทางการอีกที อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ด้งกล่าว เพราะตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลออกมาชัดเจน
สำหรับมาตรการและเครื่องมือในการรองรับความผันผวนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่า ตลท.มีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว แต่หากผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอและไม่ตื่นตระหนกก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ แต่หากมีข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น ในช่วงที่มีการประกาศขึ้นภาษี Tariffs ในครั้งแรกเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตลท.ก็มีเครื่องที่พร้อมจะใช้ โดยมาตรการจะมีการดูแลในทุกระดับ
“ประเด็นเจรจาการค้ากับสหรัฐยังคงต้องติดตาม แต่จะเห็นว่าทางการได้ให้ข้อมูลเป็นระยะ ๆ ซึ่งข้อดีคือ การเลื่อนวันจาก 9 ก.ค. มาเป็นวันที่ 1 ส.ค. 68 จะทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวและมีตัวอย่างประเทศที่เจรจาก่อนหน้า แต่บทบาทของเราคือ ไม่ให้คนตื่นตระหนก และมั่นใจว่าได้ข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งเรื่องภาษียังไม่จบ ยังคงต้องติดตามต่อใกล้ชิด”
สำหรับภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมิถุนายน 2568 โดย ณ 30 มิถุนายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 ปรับลดลง 22.2%
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663 ล้านบาท หรือลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. นูทริชั่น โปรเฟส (NUT)
ด้านนายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมายและ บริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลท. กล่าวในช่วง “SET Zooom in : บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเกิด Market Disruption” ว่าจากกรณีที่มีข่าวว่า ตลท.มีมาตรการชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมาได้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบางกลุ่มหรือไม่ เช่น กรณี บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC นั้น ยืนยันว่าการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนรายใดรายหนึ่ง
ทั้งนี้ เรื่องการบังคับขายหุ้น (Forced Sell) เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่จะต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงกับลูกค้าเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ ทั้งการเรียกเงินวางหลักประกัน (Margin) หรือการ Forced Sell โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ตลท. ซึ่ง ตลท.มีหน้าที่ตรวจสอบให้โบรกเกอร์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดและมีโทษปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
“เรามีกลไกทำงานที่ชัดเจนในการ Post Audit ไม่ได้เกี่ยวกับ ตลท.ที่จะเอื้อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งโบรกฯ มีหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเอง เช่น หลักประกันลดลงไปต่ำถึงระดับ Call Margin ที่ 35% หรือเมื่อหลักประกันลดต่ำถึงระดับที่ต้อง Forced Sell ที่ 25% ซึ่งหากโบรกฯไม่ยอมปฏิบัติตาม เราก็จะลงโทษสมาชิก”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ตลท. เกาะติดเจรจาภาษีทรัมป์ ยันมีมาตรการรับมือตลาดผันผวน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net