รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินลงพื้นที่ชายแดนอุบลราชธานี
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินลงพื้นที่ชายแดนอุบลราชธานี
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธงศักดิ์ชัย สายพระราษฎร์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมด้วย พท.นพ. ประทีป เหลือแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และนายพรเทพ ภูมะธน พนักงานปฏิบัติการงานบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่ 2 ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ พร้อมติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย -กัมพูชา บริเวณช่องบก อำเภอน้ำยืน และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะผู้บริหาร สพฉ. ได้รับการต้อนรับและร่วมหารือกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นางสาวเสาวลักขณ์ จันทรพวง ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, นางธนัชพร สมาทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี, ว่าที่พันตรีประกฤตศิลป์ บุญศรี กรรมการการแพทย์องค์กรไม่แสวงหากำไร เขตสุขภาพที่ 10, นางจิราลักษณ์ กลางถิ่น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลน้ำยืน
นางทิพวรรณ จูงสีมา หัวหน้าฝ่ายกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ และนายโยธิน สุจิณพลัม ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอน้ำยืน ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์สั่งการ อบจ.อุบลราชธานี การหารือในครั้งนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมของระบบการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและชายแดน
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลน้ำยืน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดเชียงมุน และหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และความต้องการของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานจริง ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นไป
การลงพื้นที่ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ สพฉ. ในการพัฒนาและสนับสนุนระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนที่มีความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีและมีคุณภาพเท่าเทียมกัน