ทรู คอร์ปอเรชั่น ระดมเพิ่มรถ COW และ Temp Site ต่อเนื่องเสริมสัญญาณมือถือศูนย์อพยพฯ อีสาน-ตะวันออก
ทรู คอร์ปอเรชั่น ระดมเพิ่มรถ COW และ Temp Site ต่อเนื่องเสริมสัญญาณมือถือศูนย์อพยพฯ อีสาน-ตะวันออก พื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี
ช่วยเชื่อมต่อชาวบ้านได้รับผลกระทบสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา
ติดตั้ง Free WiFi ที่ศูนย์อพยพฯ และมอบ 1000 ซิมเพื่อเชื่อมต่อสื่อสารช่วงวิกฤต
27 กรกฎาคม 2568 – บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การปะทะพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา เร่งจัดทัพรถโมบายล์สถานีฐานเคลื่อนที่เร็ว (Cell-On-Wheel: COW) และเสาสัญญาณเฉพาะกิจ (Temporary Site) เข้าไปเสริมสัญญาณมือถือ 5G/4G เพื่อรองรับการใช้งานทั้งการโทรและอินเทอร์เน็ตในศูนย์อพยพต่างๆ และพร้อมใช้งานแล้ว เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว และจันทบุรี พร้อมทั้งติดตั้งเสาสัญญาณเฉพาะกิจ (Temporary Site) ที่ ศรีสะเกษ และกำลังจะนำ COW ไปติดตั้งเพิ่ม และวางแผนเพิ่มสัญญาณตามสถานการณ์ในพื้นที่หรือจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นได้ติดตั้ง Free WiFi ในพื้นที่ศูนย์อพยพจังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้วประมาณ 50 จุด และกำลังติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ใช้งานสื่อสารฉุกเฉินในขณะมาพักพิง รวมทั้งมอบซิมการ์ดฟรี 1,000 ซิมให้ใช้โทรติดต่อและส่งข้อความ โดยมอบไปแล้วมากกว่า 500 ซิม บริการฟรีทรูวิชั่นส์ นาว ป๊อบ และยังดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่องตามสถานการณ์ ที่จังหวัด จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว อุบลราชธานี และจันทบุรี รวมทั้งมอบความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน ทรูมูฟ เอช และดีแทค ด้วยการมอบอินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB โทรฟรี 100 นาที และขยายเวลาชำระค่าบริการอีกด้วย
ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นดูแลระบบสื่อสารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนติดต่อสื่อสารกันได้แม้ในยามวิกฤต พร้อมทั้งประสานงานกับ กสทช. อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความร่วมมือ และเพื่อร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
เราพร้อมดูแลและสนับสนุนด้วยการเตรียมเครือข่าย 5G และ 4G ให้ครอบคลุมพื้นที่ศูนย์อพยพต่างๆ พร้อมเสริมสัญญาณด้วย รถโมบายล์สถานีฐานเคลื่อนที่ (Cell-On-Wheel: COW) และติดตั้งเสาสัญญาณเฉพาะกิจ (Temporary Site) เพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และปรับพารามิเตอร์สัญญาณให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีทีมวิศวกรเครือข่ายตรวจสอบสัญญาณประจำพื้นที่ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมเฉพาะกิจที่ BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ พร้อม AI พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง