เผ่าภูมิ เผยทีมไทยแลนด์ ถกสหรัฐ คืนนี้ ยันไม่เปิดตลาด 100% เพื่อลดภาษี
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงค่ำวันนี้ (17 ก.ค.68) ทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 36%
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้ ทีมไทยแลนด์มุ่งหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยต้องชั่งน้ำหนักใน 2 มิติ คือ ผลกระทบต่อผู้ส่งออก กับ ผลกระทบต่อผู้ผลิตและเกษตรกรในประเทศ พร้อมย้ำว่า ไม่ใช่แค่มองว่าอัตราภาษีไทยจะได้เท่าไหร่ แต่ต้องมองมิติของผู้ได้รับผลกระทบในประเทศด้วย มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ข้อเสนอที่เรายื่นไปเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐ อาจต้องแลกมากับการเปิดตลาด ย่อมมีผู้เดือดร้อน ทีมเจรจาจึงต้องชั่งน้ำหนัก
ในประเด็นที่มีรายงานว่าไทยอาจเสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% หลายหมื่นรายการ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการ เพราะต้องมีส่วนที่กันเอาไว้สำหรับผู้ผลิตสินค้าในประเทศ หรือสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ มีความเป็นไปได้ที่เราจะไม่เปิดทั้งหมด 100% เหมือนที่เวียดนามและอินโดฯทำ เพราะเราก็ต้องปกป้องผู้ผลิตในประเทศด้วย
ไทยสามารถยื่นข้อเสนอแบบเวียดนาม ที่เปิดตลาดนำเข้า (Total Access) ให้กับสหรัฐได้ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ส่งออกไทยได้รับอัตราภาษีที่ต่ำลง ซึ่งต้องถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ การเจรจาไม่ควรมองเพียงด้านเดียวว่าเราจะได้ภาษีเท่าไร เพราะสิ่งที่ไทยยอมลดภาษี ย่อมต้องแลกกับการเปิดตลาดที่มากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ผลิตบางกลุ่มในประเทศ ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงไม่ใช่การได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุด แต่คือการรักษาสมดุลผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
นายเผ่าภูมิยังกล่าวถึงการเปรียบเทียบกับเวียดนามว่า แม้จะมีการพูดถึงอัตราภาษีที่ 20% แต่ความจริงเวียดนามถูกจัดเกณฑ์ภาษีเป็น 2 ระดับ คือ 20% และ 40% โดยพิจารณาจาก RVC (Regional Value Content) หรือสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตในภูมิภาค โดยระบุว่า ตอนนี้เวียดนามโดนอัตราภาษี 40% มากกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามาเพิ่มมูลค่าในประเทศก่อนส่งออกไปมากกว่า ดังนั้นหากเทียบกับไทยที่ผลิตในประเทศและภูมิภาคสูง ซึ่งหากขีดเส้นที่อัตราเท่ากันไทยจะได้เปรียบกว่า
ปัจจุบันเวียดนามถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 40% มากกว่าอัตรา 20% เนื่องจากมีสัดส่วนการผลิตในประเทศไม่สูงนัก โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้ามาเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออก ต่างจากไทยที่มีการผลิตทั้งในประเทศและภูมิภาคในระดับสูง หากใช้เกณฑ์เดียวกัน ไทยจึงมีโอกาสได้เปรียบกว่า แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา