สวนนงนุชพัทยา ได้ฤกษ์ปอก พันธุ์พืชหายาก 9 ลูก สุดทึ่ง พบ 10 เมล็ดแฝด มูลค่าทะลุล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมกันปอกผล มะพร้าวทะเล Coco de Mer ผลไม้หายากระดับโลก จำนวน 9 ผล ปรากฏว่า 1 ใน 9 ผลนั้นให้ เมล็ดแฝด รวมทั้งหมดเป็น 10 เมล็ด น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 48.2 กิโลกรัม เรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ โดยเมล็ดแต่ละเมล็ดมีมูลค่ากว่า 100,000 บาท ทำให้มูลค่ารวมของการเก็บเมล็ดในครั้งนี้สูงทะลุกว่า 1 ล้านบาท
ด้านนายกัมพลกล่าวว่า สวนนงนุชพัทยา ในฐานะสวนพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ ได้รวบรวมพันธุ์ไม้จากทั่วโลกกว่า 18,000 ชนิด ซึ่ง มะพร้าวทะเล ถือเป็นหนึ่งในพืชหายากที่ได้รับการดูแลและอนุรักษ์อย่างพิถีพิถัน โดยปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์มะพร้าวทะเลได้แล้วกว่า 229 ต้น
กรณีของมะพร้าวทะเลในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวยิ่งใหญ่ของวงการพฤกษศาสตร์ไทยที่ก้าวสู่เวทีโลกอย่างภาคภูมิ พร้อมเปิดโอกาสให้สวนพฤกษศาสตร์อื่น ๆ ที่สนใจสามารถ แลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้หายากกับมะพร้าวทะเล เพื่อร่วมกันขยายพันธุ์พืชหายากต่อไป
สำหรับ มะพร้าวทะเล หรือที่เรียกว่า มะพร้าวแฝด เป็นปาล์มพันธุ์พิเศษที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะบนหมู่เกาะเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดีย และได้รับการบันทึกใน กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ว่าเป็นพืชที่มี เมล็ดใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ โดยตามธรรมชาติแล้ว มะพร้าวทะเลต้องใช้เวลานานถึง 60 ปี กว่าจะเริ่มออกผล และต้องรออีก 7 ปี เพื่อให้ผลสุกเต็มที่ จากนั้นจึงเพาะต่ออีก 2 ปี จึงจะเห็นต้นอ่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงานสวนนงนุชพัทยา ทำให้สามารถเร่งวงจรชีวิตให้มะพร้าวทะเลออกผลได้ภายใน ประมาณ 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ในบางผล เช่นกรณีครั้งนี้ ยังให้เมล็ดมากกว่า 1 เมล็ด หรือเมล็ดแฝด ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์พืชหายากได้อย่างแท้จริง