‘พีช พชร’ ทายาทธุรกิจพันล้าน จากนักแสดงที่เล่นบทนักธุรกิจ จนกลาย ‘นักธุรกิจ’ ในชีวิตจริง
มีหลายครั้งที่ทายาทธุรกิจไม่ว่าจะเจเนเรชั่นใดเจเนเรชั่นหนึ่ง มักจะรู้สึกว่ายังไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว หรือไม่ก็อยากจะทำธุรกิจที่สร้างมากับมือ ทดลองเอง เรียนรู้เอง
เส้นทางเหล่านี้ทำให้เรานึกถึง‘พีช-พชร จิราธิวัฒน์’ นักแสดงและทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจเครือเซ็นทรัล หนึ่งในนักแสดงที่หันมาทำธุรกิจของตัวเอง เป็นเจ้าของ(ร่วม)กิจการ หลากหลายแบรนด์ และที่สำคัญประสบความสำเร็จด้วย
เดิมทีหลายคนเข้าใจว่า พีช-พชร เปิดค่ายเพลงเป็นของตัวเอง แต่ความจริงเขาเป็นหนึ่งในผู้บริหารโปรดักชั่นสตูดิโอ ที่ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับ Live Concert ของบริษัท Viveka & Vehement ซึ่งยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้
[ เส้นทางธุรกิจเกิดได้ ส่วนหนึ่งเพราะชอบกิน ]
แต่ชื่อเสียงและภาพจำของ พีช-พชร ใน career path ‘นักธุรกิจ’ หรือเจ้าของกิจการที่ชัดเจนมากๆ แบรนด์แรก ก็คือ ‘Potato Corner’ แบรนด์เฟรนช์ฟรายส์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์ ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการเป็นร้านรถเข็นเล็กๆ โดย พีช-พชร และเพื่อนสนิทเป็นคนนำร้านนี้เข้ามาในไทย ภายใต้บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด
ซึ่งปี 2567 กอบโกยรายได้ไปมากถึง 790 ล้านบาท ทำกำไรประมาณ 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 65.93%
พีช-พชร เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘เมาท์มอยกับพลอยหอ’ ทาง YouTube ว่า“เพื่อสนิทที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ ป.1 พูดขึ้นมาว่า เรามาเปิดร้านอาหารกันดีกว่า ซึ่งถ้าเป็นคนปกติก็คงจะชวนกันไปตั้งวงดนตรี แต่นี่เล่นดนตรีไม่เป็นกัน”
“ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นร้านอาหารจริงจังเลย แต่มันดูยาก วัตถุดิบมันเยอะ แล้วมันมีสต๊อกนู่นนี่เยอะ ไม่น่าจะรอด คือถ้าทํามันแล้วแบบขายไม่ดี ที่เหลือก็ต้องทิ้งอย่างนี้ ก็เป็นขยะอาหารไปอีก”
อีกอย่างที่ พีช-พชร สนใจธุรกิจขนม ของทอด เพราะเป็นคนชอบกินด้วย อย่าง Potato Corner ก็เป็นของทอดซึ่งเขาชอบกินตั้งแต่เด็ก
ต้องเท้าความว่าแบรนด์ Potato Corner เพื่อนของพีช-พชร เป็นคนเจอเพราะไปแข่งโต้วาทีที่ฟิลิปปินส์ แล้วเห็นว่าแบรนด์นี้คนเข้าคิวเยอะมาก เกิดเป็นไอเดียชวน พีช-พชร เข้าไปคุยกับเจ้าของ จนกลายเป็นว่าคุยกันถูกคอเพราะเจ้าของเริ่มธุรกิจตอนวัยรุ่นเหมือนกัน
และเจ้าของมองว่า เขาและเพื่อนเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ติดต่อเรื่องขอซื้อแฟรนไชน์ จึงเป็นที่มา Potato Corner ในไทยนับตั้งแต่นั้น จนตอนนี้ก็ 9 ปีแล้ว
สำหรับ พีช-พชร เขามองว่า ไอเดียความเป็นของทอด เป็นมันฝรั่งทอด เฟรนช์ฟรายส์ เป็นสินค้าที่ไม่ต้องทำการตลาดเพราะคนรู้อยู่แล้วว่าขายอะไร ประหยัดต้นทุนได้ในช่วงทดลองตลาด มันเป็นของธรรมดาๆ ที่คนนึกถึงเวลาที่อยากกิน ไม่ต้องมีหลากหลาย ของง่ายๆ คนตัดสินใจเร็ว ถ้าเป็นของยากๆ คนก็ต้องคิดเยอะ
[ เมื่อแบรนด์แรกสำเร็จ แบรนด์อื่นๆ จึงตามมา ]
‘ข้าวโซอิ’ (Khao-Sō-i) ร้านข้าวซอยชื่อดังจากจ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งร้านที่ใครมาต้อง check-in ขึ้นชื่อเรื่องการต่อคิวยาว และรสชาติของข้าวซอยสไตล์โมเดิร์น ซึ่งเจ้าของร้านก็คือ ‘วิน ศรีนวกุล’
โดย พีช-พชร ในนามของบริษัท ร็อคส์ พีซี ได้ร่วมทุนเปิดสาขาที่ 2 ที่กรุงเทพฯ และสาขาที่ 3 ในกรุงลอนดอน ซึ่งคนแน่นเข้าคิวยาวตั้งแต่วันแรกๆ มีทั้งคนไทยที่อยู่ในลอนดอน และชาวต่างชาติที่เคยและไม่เคยชิมอาหารไทย
สำหรับมุมมองการทำธุรกิจของทั้งสอง ที่ตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ อยากเห็นของอร่อยจากเมืองไทยไปสู่สายตาโลก ซึ่งข้าวโซอิ ก็เป็นอีกหนึ่งร้านที่ represent ความเป็นไทยท้องถิ่นที่ก้าวสู่โลกได้อย่างเต็มปาก ยอดขายอาจจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ทุกครั้งที่ไถโซเชียลเกี่ยวกับอาหารไทยในกรุงลอนดอน ก็มักจะเห็นร้านนี้เสมอ
และแบรนด์ล่าสุดที่เข้าไปร่วมทุนก็คือ UNO Coffee แบรนด์ร้านกาแฟที่มีคนเข้าคิวนานเป็นชั่วโมง หลายๆ เสียงในโลกโซเชียลต่างก็รีวิวในทางบวกค่อนข้างเยอะ ทั้งราคา คุณภาพ และรสชาติ
พีช-พชร ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘วันบันเทิง’ เกี่ยวกับการทำธุรกิจว่า “การทำธุรกิจคือเราเก่งคนเดียวไม่ได้ การเลือกพาร์ทเนอร์ก็เหมือนการเลือกคู่ เพราะมันจะเกาะไปแบบชั่วกัปชั่วกัลป์”
การทำธุรกิจสำหรับพีช-พชร เหมือนเป็นการแก้ปัญหาใหม่ๆ ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่สนุก เป็นเกมการแก้ปัญหาสำหรับเขา
“ผมโชคดีที่พาร์ทเนอร์ธุรกิจสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ป.1 ผมรู้เขาชอบ/ไม่ชอบอะไร เขาก็รู้ว่าผมชอบ/ไม่ชอบอะไร มันก็เลยทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ มนุษย์เราอยู่ด้วยความเชื่อ อยู่ได้เป็นทีมเวิร์คไม่ใช่ one man show อีกอย่างคือ ลูกน้องก็ควรได้รับโอกาสด้วย เรียนรู้ขึ้น และเก่งขึ้นด้วย”
[ สร้างธุรกิจแรกให้อยู่ตัวก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายต่อ ]
นับจากวันแรกๆ ที่ พีช-พชร ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องซ้อมขอทุนทำธุรกิจกับพ่อแม่แบบจริงจังเหมือนขอสินเชื้่อกับธนาคาร จนถึงวันนี้ที่ Potato Corner กลายเป็นธุรกิจที่มีกำไรไต่ขึ้นเรื่อยๆ และมีมากกว่า 115 แห่ง นี่คือสิ่งที่เขาคิด
เขามองว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้ได้บทเรียนหลายๆ อย่าง คิดกับหุ้นส่วนตลอดว่า เมื่อผ่านไปได้ และทีมงานก็เป็นปึกแผ่นดีแล้ว สิ่งที่จะทำต่อก็คือ การหาโปรเจกต์อื่นๆ ทำเพิ่ม ภายใต้บริษัทเดิม (บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด)
“อย่างแรกที่สุดคือ ทำอะไรที่เราชอบเพราะมันจะไม่เครียด เวลาหาไอเดียทำอะไรต่อก็ต้องเป็นสิ่งที่เราชอบ ความชอบมันจะกลายเป็นแพชชั่น แต่เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าชอบอะไร หรืออยากทำอะไร”
พีช-พชร เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับรายการ Aim Hour ของ TODAY ถึงการถูกตีตรา เกิดมาเป็น “จิราธิวัฒน์” ไว้ว่า “ตอนนี้อาจจะไม่ใช่การอยากสร้าง หรืออยากมีอะไรเป็นของตัวเองแล้ว ผมอยากทำอะไรๆ ที่สนุกมากกว่า เราเริ่มรู้แล้วว่าเราอยากทำอะไร ผมคิดว่าชีวิตนี้ไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว เพราะผมได้พิสูจน์ไปหมดแล้ว”
“การลุยกับงาน มีวินัย นี่แหละคือตอบโจทย์ทุกอย่าง”
จากหลายๆ บทสัมภาษณ์จาก พีช-พชร ทั้งเกี่ยวกับมุมมองเรื่องธุรกิจ และการทำธุรกิจของเขา รวมถึงปัจจุบันที่เขาได้เรียนจบปริญญาโท สาขา Major Programme Management จาก University of Oxford สิ่งหนึ่งก็เพื่อ เรียนรู้ในมุมภาพรวมในเรื่องที่ยังไม่เคยลงดีเทล ซึ่งเขาเชื่อว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในอนาคตแน่ๆ
สิ่งหนึ่งที่เห็นจากความเป็น พีช-พชร คือ การพิสูจน์ตัวเองในวันที่เคยกดดันมากก่อน ในฐานะคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ แต่วันนี้ความสำเร็จทั้งงานแสดง และธุรกิจของเขา สะท้อนชัดเจนว่า เขาสู้ไม่ถอยกับทุกเรื่อง และตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ชอบให้สำเร็จ เพื่อลบภาพความเป็นตระกูลพันล้านด้วยธุรกิจที่สร้างมากับมือ
อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=rdvNmPxMPyE
https://www.youtube.com/watch?v=Lk-jycsMEYM
https://www.youtube.com/watch?v=ZhNlwQMAt-4
https://www.youtube.com/watch?v=ZhNlwQMAt-4