ยุคใหม่ของการเกษตร ฟาร์มอังกฤษทุ่ม 3.7 ล้านบาท ซื้อโดรน DJI ปลูกผัก ลดต้นทุน ช่วยพนักงาน
ทอม เอเมอรี (Tom Amery) ผู้บริหารของบริษัท The Watercress Company กล่าวว่า “ผมได้ไอเดียมาจากคลิปในอินสตาแกรม” พร้อมกับมองดูโดรนขนาดใหญ่ 3 ลำที่เขาเพิ่งซื้อมาเพื่อช่วยปลูกวอเตอร์เครส (Watercress) ที่ฟาร์มในแฮมป์เชียร์ ประเทศอังกฤษ
ซึ่งโดรนเหล่านี้เป็นของ DJI จากจีน รุ่น Agras T50 สามารถขนปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ หรืออาหารพืชได้ถึง 50 กิโลกรัม มีใบพัด 4 ชุด และถูกออกแบบมาเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ บริษัทลงทุนไปกว่า 80,000 ปอนด์ (ประมาณ 3.7 ล้านบาท) กับเทคโนโลยีนี้ ซึ่งช่วยเร่งกระบวนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
เร็วกว่าหลายเท่า ใช้ปุ๋ยน้อยลง
เอเมอรี บอกว่า การหว่านปุ๋ยผ่านโดรน “เร็วกว่าการเดินหว่านเอง 2-3 เท่า” แถมยังสามารถกำหนดจุดที่ต้องการให้โดรนหว่านปุ๋ยได้แม่นยำ ทำให้ใช้ปุ๋ยน้อยลงและลดต้นทุนได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการปลูกพืชที่ต้องผลิตเป็นถุงสลัดส่งซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วสหราชอาณาจักร
ไม่ได้แค่เพิ่มผลผลิต แต่ช่วยเรื่อง “กำลังใจพนักงาน”
แม้หลายคนจะกังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คนทำงาน แต่เขากลับมองว่า โดรนช่วยลดงานหนักที่น่าเบื่อมาก ๆ ได้ และส่งผลดีต่อกำลังใจของทีมงาน “เราจะจ่ายค่าจ้างให้คนที่บังคับโดรนสูงขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้พนักงานอยากอยู่กับเรานานขึ้น”
ตอนนี้โดรนยังบินไม่ได้ เพราะต้องรอใบอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนของอังกฤษ แต่บริษัทก็เตรียมแผนพร้อมไว้หมดแล้ว เช่น เส้นทางการบินในแต่ละแปลงปลูก และฝึกอบรมพนักงานอายุ 20 ปีชื่อ จอร์จ แมทธิวส์ (George Mathews) ให้มีใบอนุญาตบินโดรนเรียบร้อย
ฟาร์มเก่าแก่ก็ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้
แม้ The Watercress Company จะใช้วิธีปลูกผักแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่ยุควิกตอเรีย โดยใช้น้ำจากลำธารธรรมชาติที่ไหลผ่านแปลงปลูกมาตั้งแต่ปี 1880 แต่บริษัทก็เปิดรับเทคโนโลยีใหม่เสมอ เช่น การใช้กล้องมัลติสเปกตรัมถ่ายภาพแปลงผัก แล้วใช้ AI วิเคราะห์ตำแหน่งที่พืชมีปัญหา เพื่อดูแลได้ตรงจุด
แนวทางนี้ตรงกับที่สมาคมเกษตรกรแห่งชาติของอังกฤษ (NFU) ผลักดันอยู่ คืออยากให้เกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการผลิตอาหาร
อุปสรรคคือ “เงินทุน” และ “ความมั่นใจ”
แม้รัฐบาลอังกฤษจะจัดงบกว่า 200 ล้านปอนด์ ภายใต้โครงการนวัตกรรมเกษตรไปจนถึงปี 2030 และผลักดันเรื่องนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม แต่ NFU ก็เตือนว่า เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีเงินหรือความมั่นใจพอที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่พิสูจน์ผลชัดเจน
ด้านเอเมอรีก็ยอมรับว่า แม้จะได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นมา 20,000 ปอนด์ แต่เขายังต้องออกค่าใช้จ่ายเองเกือบทั้งหมด และยังเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเครดิตวิจัยและพัฒนา เพราะบริษัทของเขาเป็นห้างหุ้นส่วน ไม่ใช่นิติบุคคล
นวัตกรรมเกิดจาก “ปัญหา”
แม้จะมีอุปสรรค แต่เอเมอรียังคงมุ่งมั่นจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้าฟาร์มต่อไป “นวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่เราต้องแก้ให้ได้” เขาบอก “เราอาจเจอนวัตกรรมเปลี่ยนเกมได้ทุก ๆ 5-10 ปี แต่มันก็คุ้ม”