เปิด 3 ข้อ “ปวิน” มองท่าทีทูตไทย หลังถก UN มุมป้องอธิปไตย-สิทธิพลเรือน
อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิเคราะห์หลัง มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศของไทย เดินหน้าคุย UN ชมท่าทีแข็งกร้าว เน้นเชิงรุก ชี้มุ่งมั่นใช้กลไกกฎหมายปกป้องอธิปไตยและสิทธิพลเรือน แถมตอกย้ำข้อกล่าวหาต่อกัมพูชาในหลายๆ ด้าน ก่อนพาชำแหละ 3 ข้อชี้ชัด
วันนี้ (26 ก.ค.) อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโตและอดีตนักการทูตไทย โพสต์เฟซบุ๊กหลังกรณีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้แถลงข่าวหลังกลับจากสหประชาชาติ (UN) โดยยืนยันว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้นโจมตีก่อนเมื่อวันที่ 24 กค และได้โจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ ทำให้มีพลเรือนไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงเด็กอายุ 8 ขวบ มาริษย้ำว่า การกระทำของกัมพูชาเป็นการละเมิดอธิปไตยไทยอย่างร้ายแรง
อ.ปวิน กล่าวโดยขออนุญาตมาอัปเดตสถานการณ์ด้านการฑูตกันต่อกับกรณีของปัญหาการเปิดหน้าปะทะกันบริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชาที่ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 ของการสู้รบและหลังจากที่วันนี้ รมว.กต. มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ได้แถลงข่าวหลังกลับจากสหประชาชาติ (UN) ยืนยันว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้นโจมตีก่อนเมื่อวันที่ 24 กค และได้โจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีพลเรือนไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงเด็กอายุ 8 ขวบ
นายมาริษในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจึงเน้นย้ำว่า การกระทำของกัมพูชาเป็นการละเมิดอธิปไตยไทยอย่างร้ายแรง รวมถึงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรยูเอ็น “UN” และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทันทีที่เกิดเหตุ กระทรวงต่างประเทศได้ประณามการรุกราน ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต
โดยเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ และเรียกร้องให้กัมพูชายุติการโจมตีทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการวางทุ่นระเบิดใหม่ของกัมพูชาในดินแดนไทยซึ่งทำให้ทหารไทยบาดเจ็บสาหัส เป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา
เฟซบุ๊กของอ.ปวินเสริมต่อว่า ในส่วนของการเยือน UN มาริษได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหลายฝ่ายรวมถึงกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม UNSC แบบปิด ซึ่งมี 15 ประเทศเข้าร่วมในที่ประชุม ซึ่งสมาชิก UNSC เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดความตึงเครียด หยุดยิงและแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี พร้อมสนับสนุนบทบาทของอาเซียน
แต่ที่สำคัญคือ UNSC ไม่ได้มองว่าสถานการณ์นี้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ส่วนข้อเสนอหยุดยิงจากนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย (ประธานอาเซียน) นั้น ไทยเห็นด้วยในหลักการ แต่กัมพูชาจะต้องหยุดโจมตีและแสดงความจริงใจก่อน
มาริษยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการโจมตีปราสาทเขาพระวิหารว่าไม่เป็นความจริง เพราะจุดปะทะอยู่ห่างจากปราสาทถึง 2 กิโลเมตร
ทั้งนี้ไทยจะดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยจะส่งหนังสือประท้วงเรื่องการโจมตีเป้าหมายพลเรือนไปยังคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม ไทยยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและเรียกร้องให้กัมพูชากลับสู่การเจรจาอย่างจริงใจ
มุม อ.ปวิน วิเคราะห์คำแถลง “รมว.กต” ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงท่าทีอย่างไร ?
สำหรับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ แต่เริ่มโดยระบุชัดเจนว่า ท่าทีในแถลงกระทรวงต่างประเทศหนนี้ของไทยนั้น แสดงออกถึงท่าทีที่แข็งกร้าวและเป็นการเปิดเกมในเชิงรุกมากขึ้นด้วย
- คำแถลงของรมว.กต ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงท่าทีทางการทูตที่แข็งกร้าวและเชิงรุกมากขึ้นของไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยเน้นย้ำเรื่อง “กัมพูชาเป็นผู้ริเริ่มและละเมิดกฎหมาย” อย่างสม่ำเสมอ การระบุถึงความเสียหายต่อพลเรือนและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงการอ้างถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกละเมิด (เช่น กฎบัตร UN, อนุสัญญาเจนีวา, อนุสัญญาออตตาวา) เป็นการสร้างน้ำหนักทางกฎหมายให้กับข้อกล่าวหาของไทย และเป็นการกดดันกัมพูชาในเวทีโลก
2. การที่ไทยตอบรับข้อเสนอหยุดยิงของนายอันวาร์ แต่มีเงื่อนไขให้กัมพูชาต้องหยุดโจมตีและแสดงความจริงใจก่อน เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการผลักภาระความรับผิดชอบในการหยุดความรุนแรงกลับไปให้กัมพูชา ซึ่งเป็นการโต้ตอบข้อกล่าวหาของกัมพูชาที่ว่าไทยเป็นฝ่ายปฏิเสธหยุดยิง
นอกจากนี้ การที่ UNSC ระบุว่า สถานการณ์ “ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” อาจถือเป็นความสำเร็จทางการทูตเล็กๆ ของไทย เพราะหมายความว่า UN จะไม่เข้ามาแทรกแซงด้วยมาตรการที่รุนแรง หรือส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ ซึ่งให้พื้นที่กับไทยในการจัดการปัญหานี้ในระดับทวิภาคีมากขึ้น
3. การที่ไทยกำลังดำเนินการยื่นเรื่องประท้วงและพิจารณาช่องทางทางกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้ง ICRC, คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และ ICC แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อปกป้องอธิปไตยและสิทธิของพลเรือน และเป็นการตอกย้ำข้อกล่าวหาต่อกัมพูชาในหลายๆ ด้าน
ตอนท้ายอ.ปวินระบุ การดำเนินคดีในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ICC นั้น มีกระบวนการและขั้นตอนที่ซับซ้อนตลอจนต้องใช้เวลานาน นี่จึงเป็นการส่งสัญญาณระยะยาวมากกว่าผลลัพธ์ในทันที.
อ่านข่าวเพิ่มเติม