รังสิมันต์ขอสภาฯ รับร่าง ‘พรรคประชาชน’ ไม่ปิดประตูนิรโทษฯ คนโดนคดี 112
วันนี้ (9 กรกฎาคม 2568) ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวตอนหนึ่งในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยพรรคประชาชน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมว่าต้องยกเว้นความผิดในกรณีไหน แต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการภายใต้กฎหมายในการพิจารณาว่า หลักการสำคัญคือ การให้มีตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผสมกับศาล ผสมกับอัยการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เป็น ‘โต๊ะ’ แห่งการพูดคุยที่มีทุกคน ทุกฝ่าย ในการร่วมกันหาทางออกเรื่องนี้
สำหรับเงื่อนไขที่พรรคประชาชนเว้นไว้ มีเพียงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุ เพราะการกระทำเหล่านี้ถึงแก่ชีวิต และหากปล่อยเอาไว้ ก็เท่ากับนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ผมทราบดีว่า พวกท่านทั้งหลายอาจจะมีความคิดหลายๆ อย่างต่อพวกผม แต่ท่านต้องเข้าใจว่า ทุกๆ ครั้งที่มันมีการดําเนินคดีกับคนที่เห็นต่างทางการเมือง ยิ่งพวกท่านใช้ข้อหาที่รุนแรงมากเท่าไร สิ่งที่ท่านทำสำเร็จคือใช้ความกลัว แต่ผมอยากจะเรียนด้วยความเคารพว่า ด้านกลับของความกลัวคือความอันตราย
“สังคมนี้ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการเห็นคนที่เห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานคนในครอบครัว ต้องถูกดําเนินคดีด้วยข้อหาที่มันรุนแรง เพียงเพราะเขาแค่อยากเห็นสังคมที่ดีกว่“ทุกครั้งที่มีคําพิพากษา คนคนหนึ่ง ครอบครัวของเขา เพื่อนของเขาในโรงเรียนจะคิดอย่างไร จะเห็นกระบวนการยุติธรรมของเราเป็นอย่างไร เขาจะรู้สึกหรือไม่ว่าการดำเนินคดีทุกครั้งคือความเป็นธรรม คนในครอบครัวจะรู้สึกหรือว่าเราอยู่ในสังคมที่เรียบร้อย ดีงาม ศิวิไลซ์แล้ว เพียงเพราะคนที่เห็นต่างทางการเมืองเขาถูกพิพากษาให้จําคุก เราอยากได้สังคมแบบนั้นจริงๆ หรือ”
รังสิมันต์ยังระบุด้วยว่า วันนี้หากสังคมจะเดินต่อไปข้างหน้า ก็ถึงเวลาแล้วในการนำคนที่เห็นต่างทางการเมือง นำคนที่ปรารถนาดีต่อประเทศออกจากเรือนจำ มาใช้ชีวิตปกติ แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งควรใช้โอกาสแบบนี้ในการเริ่มต้น
“ถ้าวันนี้ผมอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ผมจะไม่แปลกใจเลย ที่เราจะได้เห็นผู้มีอํานาจ ที่บ้าอํานาจแล้วใช้อํานาจในการที่จะรังแกคนที่เห็นต่างทางการเมือ“แต่วันนี้ เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว จะมีสักเสี้ยวหนึ่งของหัวใจเราบ้างได้ไหม ที่เราจะได้คิดว่าเราสงสารลูกของอานนท์ เราสงสารของครอบครัวอีกหลายๆ ครอบครัว เราสงสารคนอีกจํานวนมากที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วอีกนิดเขาจะเรียนจบ แล้วสามารถใช้ความรู้นั้นเพื่อประเทศชาติ ทว่าสุดท้าย เขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย”
รังสิมันต์ระบุอีกด้วยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น และใช้กฎหมายฉบับนี้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง
สำหรับวันนี้มีกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสิ้น 5 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ร่างของพรรคประชาชน, ร่างของภาคประชาชนซึ่งให้นิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมถึงผู้ที่โดนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เขียนชัดเจนว่าไม่รวมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และร่างของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเพิ่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้
ทั้งนี้มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า วิปรัฐบาลอาจรับเพียงร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งเขียนชัดเจนว่า ไม่รวมการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งยังคงต้องติดตามผลการลงมติต่อไป
ภาพ: ภานุมาศ สงวนวงษ์/ Thai News Pix