ETDA ดันความร่วมมือรัฐ-เอกชน ปราบสินค้าปลอมบนโลกออนไลน์
ในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับต้องตกเป็นเหยื่อของสินค้าที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐาน ตัวอย่างชัดเจนล่าสุดคือเหตุการณ์ที่หญิงสาวสั่งซื้อทิชชูเปียก แต่ได้ลำโพงซ่อนยาเสพติด หรืออีกหลายกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้าตามที่โฆษณาไว้
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้จัดเวทีเสวนา “DPS Trust Every Click” ภายใต้แนวคิด “รวมพลังต้านภัย สินค้าออนไลน์ ผิดกฎหมาย - ไร้มาตรฐาน” เชิญผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Shopee และองค์กรผู้บริโภค ร่วมหารือเจาะลึกปัญหา และแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไข เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“ของถูก” กลายเป็นกับดัก - ปัญหาที่ใหญ่เกินจะมองข้าม
สถิติจาก ETDA ระบุว่าในปี 2567 มีเรื่องร้องเรียนกว่า 35,000 ครั้ง โดย 74% เป็นปัญหาซื้อขายของออนไลน์ เช่น สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า หรือสินค้าปลอม ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนความเสียหายรายบุคคล แต่ยังเป็น “วิกฤตสาธารณะ” เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายทั่วประเทศแตะระดับหมื่นล้านบาท
ผู้บริโภคส่วนหนึ่งตกหลุมพรางของ “ราคาถูก” จนนำไปสู่พฤติกรรมยอมความ ไม่ร้องเรียน และเปิดช่องให้กลุ่มมิจฉาชีพขยายตัว สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเสนอให้ผลักดัน “Lemon Law” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถคืนหรือเปลี่ยนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานได้
บัญชีม้า-โฆษณาหลอก-แพลตฟอร์มไร้ตัวตน
หน่วยงานรัฐหลายแห่งสะท้อนภาพรวมที่น่ากังวล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเผยว่ามิจฉาชีพมีพฤติกรรมซับซ้อนขึ้น เช่น ใช้“บัญชีม้า” โอนเงินหลายทอด รวมถึงอาศัยความรู้จากสื่อมาหลบเลี่ยงการจับกุม โดยเสนอให้สื่อเลี่ยงเปิดเผยวิธีทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อลดโอกาสเลี่ยงคดี
ด้าน อย. เปิดเผยว่าได้รับร้องเรียนปีละ 3,000–4,000 เคส ส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพและยา ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนยังเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่ตรวจสอบแหล่งที่มาและฉลากภาษาไทยซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นของความถูกต้อง
เร่งออกมาตรฐาน - เชื่อมฐานข้อมูล - ปรับพฤติกรรมผู้บริโภค
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ระบุว่าปัจจุบันมีมาตรฐานสินค้าบังคับเพียง 145 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 รายการในปี 2570 พร้อมเน้นให้แพลตฟอร์มร่วมแจ้งเตือนสินค้าที่ขายดีผิดปกติ เพื่อจัดลำดับความเสี่ยง
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอให้บูรณาการระบบตรวจสอบออนไลน์ผ่านโครงการ “ALL CLEAR” เชื่อมฐานข้อมูลร้องเรียนเข้ากับแพลตฟอร์ม และกำหนดให้ผู้ขายที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนกับรัฐอย่างเป็นทางการ พร้อมแนะบรรจุความรู้เรื่อง “สิทธิผู้บริโภค” ลงในหลักสูตรการศึกษา
แพลตฟอร์มต้องเป็นด่านหน้า-ใช้ AI สกัดตั้งแต่ต้นทาง
ด้าน Shopee ในฐานะแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ย้ำว่าได้ใช้ AI ตรวจจับสินค้าผิดปกติก่อนอนุญาตให้ขาย พร้อมมีระบบ “Shopee Guarantee” ให้ลูกค้าคืนเงินได้ภายใน 7–14 วัน และเปิดช่องทางให้รีพอร์ตปัญหาได้โดยตรง
Shopee ยังยอมรับว่า แม้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องพิจารณาสมดุลระหว่างสิทธิของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการคืนสินค้าบ่อยครั้งอย่างไม่เหมาะสม ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนานโยบายที่รัดกุมและเป็นธรรม โดยมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจผ่านการนำเสนอข้อมูลร้านค้าอย่างโปร่งใสผ่านวิดีโอและไลฟ์สด
ปลายทางของทุกคลิก ต้องมั่นใจได้
เวทีนี้สะท้อนว่า ปัญหาสินค้าออนไลน์ไม่ได้อยู่ที่กฎหมายล้าหลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัย “ความร่วมมือ” จากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ แพลตฟอร์ม สื่อมวลชน และตัวผู้บริโภคเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการซื้อขายออนไลน์ และสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ในทุกคลิกที่กดลงไป