‘นฤมล’ ยาหอม ลดภาระครู สั่งก.ค.ศ. รื้อเกณฑ์วิทยฐานะ แยกสังกัด ประถม-มัธยม-อาชีวะ หวังเพิ่มรายได้
‘นฤมล’ ยาหอม ลดภาระครู สั่งก.ค.ศ. รื้อเกณฑ์วิทยฐานะ แยกสังกัด ประถม-มัธยม-อาชีวะ หวังเพิ่มรายได้
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎรธานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานในสังกัดศธ. โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายเกรียงไกร แก้วมีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ผู้บริการการศึกษา คณะครู นักเรียน ให้การต้อนรับ โดยนางนฤมล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเวลามาลงพื้นที่ แต่ละองค์กรหลักของ ศธ. จะไม่ได้มาด้วยกัน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ทุกหน่วยงานมาลงพื้นที่พร้อมกัน เพราะเชื่อว่าหากจะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลได้ ต้องมีความประสานเชื่อมโยงกันภายในกระทรวง ก่อนที่จะไปบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งนี้อยากให้ทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นครอบครัวศึกษา เพราะเมื่อเป็นพี่เป็นน้องแล้ว จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น
”ส่วนดิฉันเอง ก็ไม่ต้องเรียกท่าน เป็นหัวหน้าพรรคกล้าธรรม( กธ) คนในพรรคก็เรียก อาจารย์แหม่ม อยู่ที่กระทรวง ก็อยากให้เรียกอะไรก็ได้ที่สบายใจ อาจารย์แหม่มก็ได้ พี่แแหม่มก็ได้ การลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็อยากมาฟังเรื่องที่เป็นความทุกข์ร้อน ของพี่น้องครูและนักเรียนในพื้นที่ ว่าต้องการให้ผู้บริหารกระทรวงเข้ามาช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนในเรื่องใดได้อีก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ทุกคน “รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าว
นางนฤมล กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหาพบว่า มีทั้งเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังคน การจัดสรรงบประมาณ ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่ง เรื่องอัตรากำลัง ไม่ได้เบ็ดเสร็จที่ศธ. เพราะต้องไปขึ้นอยู่กับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.) และแผนยุทธศาสตร์รัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร เราก็พยายามต่อสู้ เพื่อให้ได้อัตรากำลังเพิ่ม รวมทั้งอัตรากำลังของสายสนับสนุน เพื่อให้ครูใช้เวลาหลักในการดูแลนักเรียน หัวใจครูควรจะอยู่กับนักเรียนและงานวิชาการ ที่จะเพิ่มวิทยฐานะ ความรู้ความเชี่ยวชาญให้ตัวเอง และพัฒนาโรงเรียน ไม่ใช่ไปทำงานสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพิ่มภาระ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงและจากการรับฟังปัญหา ก็พบว่ามีครูในโรงเรียนต่างๆ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ทำให้เกิดปัญหาในชีวิต เรื่องนี้ต้องแก้ ไขจัดคนให้ครบ ถ้าเรื่องใดทำได้ในกระทรวง ก็ทำก่อน แต่ถ้าต้องไปขออัตรากำลังเพิ่ม ก็ต้องสู้ ตนในฐานะฝ่ายการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการศธ. ก็ต้องคุยกับนายกรัฐมนตรี คุยกับสำนักงานก.พ. ว่าจำเป็นต้องขยับ จะเพิ่มให้เท่าไร ปีละเล็กน้อยเท่าไรก็ได้ แต่ขอให้ได้เพิ่ม ส่วนภายในกระทรวงที่ทำเตรียมไว้แล้ว วันที่ 31 กรกฎาคม นายธนู ขวัญเดช เลขาธิการก.ค.ศ. จะเกลี่ยครูเกินเกณฑ์ กว่า 600 อัตรา มาจัดสรรเป็นอัตราสายสนับสนุน เริ่มต้นที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยก่อน ลำดับถัดไปจะมีอีกกว่า 2,000 อัตรา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะจัดสรรไปที่ไหน อย่างไรบ้าง ที่จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระครูได้
“ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ก็สู้กันอยู่ในสภาฯ ขอร้องกันว่าอย่าให้ตัดงบศธ. เพราะถูกตัดทุกปี และหวังว่าปีนี้จะได้เพิ่ม ส่วนตัวของดิฉันเองเป็นฝ่ายการเมืองเรามาแล้วก็ไป แต่ทุกคนเป็นข้าราชการประจำที่จะอยู่กับกระทรวง อยู่กับเด็ก ๆอยู่กับการการศึกษาไทยไปอีกนาน ก็หวังว่าทุกคนจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ดังนั้น จึงไม่อยากที่จะเข้ามากำหนดนโยบาย แต่ต้องฟังจากผู้ที่อยู่ในองค์กร เพื่อให้แผนและนโยบายออกมาจากบุคลากรในองค์กรเองว่าอยากเห็นองค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ซึ่งผู้บริหารกระทรวงก็รับจะนำแต่ละพื้นที่ไปตกผลึก เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนตัวมีเป้าหมายทางการเมืองที่เข้ามา หวังว่าการศึกษาจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมไทย ขอฝากครูและผู้บริหารช่วยส่งเสริมและเพิ่มเติมการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง การเรื่องการลดภาระครู และการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อลดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะวิทยฐานะนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มช่วยลดค่าของชีพ ซึ่งได้คุยกับเลขาธิการก.ค.ศ. ว่า หลักเกณฑ์ที่ผ่านมาก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ดี แต่อาจจะต้องปรับให้ตอบโจทย์ผู้ที่ถูกประเมิน สร้างแรงจูงใจ ให้ทุกคน ในการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งนี้ การศึกษาแต่ละองค์กร ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ต้องถูกประเมินไม่เหมือนกัน ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ( สกร.) ฯลฯ ดังนั้นจึงให้ ไปดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกหลักเกณฑ์วิทยฐานะในแต่ละรูปแบบ เพื่อที่ครูจะได้โฟกัสในสิ่งที่ต้องไปพัฒนาวิทยฐานะ และพัฒนาเด็กให้ตรงกับเรื่องที่ต้องประเมิน ถ้าเป็นหลักเกณฑ์กลางทั่งหมด มันก็ไม่เกี่ยวกับงานที่ทำอนู่ และถ้าสามารถแยกวิทยฐานะแต่ละประเภทได้ ก็อยากให้มีผู้ประเมินที่เข้าใจบริบทการทำงาน เพื้อให้เกิดความเข้าใจ อย่างเช่นตนเองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หากต้องประเมินครูประถมก็คิดว่า ทำได้ไม่ดี เพราะถูกฝึกมาคนละอย่าง หากเราไปประเมินในสิ่งที่เราขาดประสบการณ์ก็อาจจะไม่สอดคล้อง จึงขอฝากให้ดำเนินการเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน“นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องสุดท้าย ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ไปดูเรื่องการเพิ่มสวัสดิการและเร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูซึ่งตัวเลขปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาทโดยในสัปดาห์หน้าจะมาตกผลึกโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการเพิ่มสวัสดิการ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘นฤมล’ ยาหอม ลดภาระครู สั่งก.ค.ศ. รื้อเกณฑ์วิทยฐานะ แยกสังกัด ประถม-มัธยม-อาชีวะ หวังเพิ่มรายได้
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th