BDE เผย เอสเอ็มอีดิจิทัลหงอย รัฐต้องอัดยา ก่อนเศรษฐกิจทรุด
เลขาธิการ BDE เผย ดิจิทัลไทยโตแรงแตะ 4.6 ล้านล้าน แต่เอสเอ็มอียังหงอย รัฐต้องอัดยาเร่งเครื่อง ก่อนเศรษฐกิจอัจฉริยะเหลื่อมล้ำหนักกว่าเดิม
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) หรือ สดช. เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ความพร้อมผู้ประกอบการดิจิทัลไทยต่อความท้าทายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 และความพร้อมผู้ประกอบการดิจิทัลไทย โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วมงาน
นายเวทางค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดแตะ 4.69 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.2% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 3.4 เท่าของ GDP ประเทศไทย ชี้การส่งออกสินค้าดิจิทัลในช่วง 5 เดือนแรกของปี มีมูลค่าสูงถึง 866,000 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ดิจิทัลคอนเทนต์ (โต 9.9%) โทรคมนาคม (โต 8.1%) และกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การท่องเที่ยว (โต 5.8%)
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะสะท้อนถึงความยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย หากขาดความพร้อมของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันระบบเศรษฐกิจใหม่
การสำรวจภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook พบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดใหญ่มีระดับความพร้อมเฉลี่ยที่ 2.74 คะแนน อยู่ในระดับ High จากเกณฑ์วัด 4 ระดับ ได้แก่ Basic, Medium, High และ Leading ซึ่งสะท้อนถึงการมีระบบดิจิทัลภายในองค์กร และมีการขับเคลื่อนตามนโยบายยุทธศาสตร์ของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดเล็กกลับมีคะแนนความพร้อมเฉลี่ยเพียง 1.5 คะแนน ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ได้เพียง 1.00 คะแนน) และการบริหารจัดการภายในด้วยระบบดิจิทัล (1.20 คะแนน) ซึ่งถือเป็นมิติที่รัฐต้องเร่งสนับสนุนเป็นพิเศษ
นายเวทางค์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายหนุนเอสเอ็มอี อย่างหลากหลาย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี เงินทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมาตรการหลักที่รัฐเดินหน้าในปัจจุบันมี 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ Go Cloud First ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศลงทุนศูนย์ข้อมูลในไทย ทำให้บริการคลาวด์มีราคาถูกลง เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ
2.การสนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนดีอี เปิดทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อจัดหาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เกิดนวัตกรรมใหม่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน 3.โครงการ DEPA Mini Transformation Voucher เป็นคูปองสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางให้ยกระดับกระบวนการบริหารด้วยดิจิทัล และ 4.มาตรการภาษีสำหรับ SMEs เปิดโอกาสให้หักลดหย่อนค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีได้ 200%
นอกจากนี้ การสำรวจยังวิเคราะห์ถึงความสามารถของผู้ประกอบการดิจิทัลในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ครอบคลุม 7 ด้านหลัก ได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart Living, Smart People, Smart Energy, Smart Economy และ Smart Governance โดยพบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ Smart Living มากที่สุด คิดเป็น 19.12% ตามมาด้วย Smart Economy ที่ 14.37%
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อน Smart City มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (55 บริษัท), ฮาร์ดแวร์ (44 บริษัท) และบริการดิจิทัล (38 บริษัท) ขณะที่ Smart Economy ขับเคลื่อนโดยบริการดิจิทัล (48 บริษัท) และซอฟต์แวร์ (41 บริษัท)
เมื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่ พบว่า บริษัทที่มีศักยภาพในการพัฒนา Smart City ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพมหานคร คิดเป็น 42.9% (174 จาก 406 บริษัท) รองลงมาคือ ภาคกลาง 28.1% และภาคตะวันออก 9.4% สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมผู้ประกอบการในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในมิติที่ยังอ่อนแอ เช่น Smart People และ Smart Environment เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทยเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในระยะยาว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO