วิโรจน์ หอบเบาะแส ส่วยแรงงานต่างด้าว อ.แม่สอด ยื่น DSI หวังรับเป็นคดีพิเศษ
วิโรจน์ ส.ส.พรรคประชาชน หอบเบาะแสหลักฐานปมส่วยแรงงานข้ามชาติพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าร้อง DSI รับเป็นคดีพิเศษ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 กรกฎาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) พร้อมด้วย นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ หรือ ส.ส.ปอนด์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดตาก เขต 2 พรรคประชาชน ร่วมกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พิจารณารับปัญหาผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นคดีพิเศษ โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ และ น.ส.อรุณศรี วิชชาวุธ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับเรื่อง
นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ตนเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องปัญหาของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการเก็บเกี่ยวหาผลประโยชน์ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งตนได้เดินทางมาพร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ คือ นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ หรือ ส.ส.ปอนด์ โดยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีทั้งการค้าแรงงานและหลายส่วนเกี่ยวพันกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ เรื่องยาเสพติด การเก็บส่วยสินบน เพื่อให้มีการลักลอบประกอบกิจการได้
ส่วนนี้มองว่าเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะแทนที่กิจการต่าง ๆ จะถูกขึ้นทะเบียน เสียค่าธรรมเนียม เสียค่าภาษี เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำเงินเหล่านี้มาใช้บริหารจัดการเพื่อดูแลคนในรัฐ หรือดูแลคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อมีระบบส่วย จึงมีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อส่งให้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ปกครองบางกลุ่มบางนาย สุดท้ายพอท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ จึงเกิดภาวะขาดแคลนงบประมาณในการดูแลสาธารณูปโภค รวมไปถึงระบบสาธารณสุขต่าง ๆ ซึ่งมันกระทบกับคนในพื้นที่ทุกคนไม่ว่าชนชาติใด ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาผู้มีอิทธิพลที่เหิมเกริม สร้างสถานะรัฐซ้อนรัฐ มันก็จะทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นจะถูกริดรอนสิทธิ์
นายวิโรจน์ เปิดเผยอีกว่า ความน่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน พยายามแก้ไขปัญหา ก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มเข้าไปคุกคามแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย โดยไปเพ่งเล็งโทษจำผิด ยัดข้อหา หรือในบางกรณีก็มีการไปคุกคามผู้ลี้ภัยสงครามที่มาจากฝั่งเมียวดี ซึ่งผิดหลักสิทธิมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เพื่อกดดันไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การเก็บส่วยหรือพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นยังคงดำรงสภาพอยู่ได้
เมื่อถามว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวมีเงินสะพัดหมุนเวียนถึง 10,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ลำพังแค่ “โปลิสการ์ด” หรือ “ปะเล็กการ์ด” ที่เขาเก็บกันหัวละ 600 บาท ก็ประเมินอย่างต่ำ ๆ ก็หลายพันล้านบาทแล้ว ยังไม่รับรวมเรื่องส่วยของการเปิดกิจการ หรือจ้างนอมินีมาจดทะเบียน รับประกอบกิจการโดยสารผิดกฎหมาย เป็นต้น พวกนี้ก็จ่าย 3,600 บาทต่อเดือนต่อรถ 1 คัน ซึ่งตนมองว่ารวมแล้วอย่างขั้นต่ำน่าจะ 3,000-4,000 ล้านบาท
นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า วันนี้ยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลใด แต่เพียงนำเอาพยานหลักฐานและเบาะแสจำพวกเหตุการณ์ร้อยเรียง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของกลุ่มคนมาให้ดีเอสไอรับไปดำเนินการสืบสวนขยายผลก่อน เพราะมีกลุ่มของการพัวพันจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้ นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ หรือ ส.ส.ปอนด์ จะเป็นผู้ประสานเรื่องพยานเอกสารและหลักฐานอื่นกับทางดีเอสไอต่อไป เพื่อจะได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
นายรัชต์พงศ์ กล่าวว่า เรื่องที่มาร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันนี้เนื่องจากเป็นความอึดอัดใจของคนในพื้นที่ เนื่องจากมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลพยายามทำในสิ่งที่ผิด รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนมีการบังคับใช้กฎหมายทำในสิ่งที่ไม่ควร จึงต้องมายื่นคำร้องเพื่อให้ปัญหาได้รับการคลี่คลาย ซึ่งความเดือดร้อนหลัก ๆ เกิดขึ้นในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แล้วมันพัวพันมายาวนานกว่านั้น ซึ่งมันก็สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติที่มีปัญหา ทั้งนี้ ในฐานะผู้แทนของประชาชน เราก็จะยื่นข้อเสนอทางภาครัฐกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งก็คือนโยบายระดับชาติในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่อไป
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื้อหาภายในเอกสารที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ หรือ สส.ปอนด์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดตาก เขต 2 พรรคประชาชน ที่ได้นำมายื่นกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น สรุปใจความสำคัญได้ว่า
เป็นการขอให้ดีเอสไอพิจารณาปัญหาผู้มีอิทธิพลที่มีความเกี่ยวพันกับการเรียกรับผลประโยชน์ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยขอให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ เพราะปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อยมีจุดเริ่มต้นจากการลักลอบเข้าเมืองของบุคคลจากต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีถูกนำไปใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกรับผลประโยชน์ โดยมีลักษณะที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า“โปลิสการ์ด” หรือ “ปะเล็กการ์ด” ซึ่งเป็นการเก็บเงินรายเดือนจากบุคคลที่ไม่มีเอกสารการเข้าเมืองที่ถูกต้อง โดยเรียกเก็บในอัตราประมาณ 600 บาทต่อเดือน และออกเอกสารให้เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่หากมีการเรียกตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดี
อีกทั้งยังพบว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์เพิ่มเติมจากแรงงานต่างชาติในกรณีที่ต้องการใช้จักรยานไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ หรือประกอบกิจการขนาดเล็ก เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งการใช้รถซาเล้งติดเครื่องยนต์ในการขนส่ง โดยมีการเรียกเก็บเป็นรายเดือนในอัตราที่แตกต่างกัน
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ต่อผู้ประกอบการชาวไทยที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีการใช้ชื่อบุคคลสัญชาติไทยเพื่อจดทะเบียนทรัพย์สินหรือดำเนินกิจการแทนบุคคลจากต่างประเทศซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการสืบสวนสอบสวนในกรณีที่การกระทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ยังมีรายงานถึงการขยายตัวของกิจการในลักษณะดังกล่าวไปถึงการจัดตั้งนิติบุคคล การขอใบทะเบียนพาณิชย์ รวมถึงการถือครองที่ดิน โดยใช้ตัวแทนสัญชาติไทยในการดำเนินธุรกรรม รวมแล้วมีลักษณะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายข้ามชาติ โดยมีการเรียกรับผลประโยชน์ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายหลายประเภท ได้แก่ การค้ามนุษย์ การปล่อยเงินกู้นอกระบบ การลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี การโจรกรรม การค้ายาเสพติด ส่งผลให้การควบคุมดูแลของรัฐในพื้นที่อำเภอแม่สอดประสบภาวะยากลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณท่าข้ามบางแห่ง จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งสิ้น 42 แห่ง
เบื้องต้น จากการประเมินสถานการณ์โดยอ้างอิงข้อมูลจากประชาชนและแหล่งข่าวในพื้นที่พบว่า มีบุคคลต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 200,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายประมาณ 60,000 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 140,000 คน อาจเป็นกลุ่มที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีในอัตราเดือนละ 600 บาทต่อคน จะคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีการเรียกรับผลประโยชน์
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นี้ เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งครอบคลุมความผิดที่มีความซับซ้อน มีผลกระทบต่อความมั่นคง ระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ รวมถึงเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติและเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณารับกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ผู้บงการ ผู้สนับสนุน หรือผู้สมคบ พร้อมทั้งประสานกับสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : วิโรจน์ หอบเบาะแส ส่วยแรงงานต่างด้าว อ.แม่สอด ยื่น DSI หวังรับเป็นคดีพิเศษ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th