“นฤมล” ประเดิมงานแรก แถลงจัด “Asian Science Camp 2025” ลั่น! ลดภาระงานครูแน่
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นการประธานงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การจัดโครงการ Asian Science Camp 2025 ซึ่งถือเป็นการประเดิมงานแรกอย่างเป็นทางการ จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มสท.) หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ได้ถวายสัตย์ปฎิญญาณตน ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้งานแถลงข่าวดังกล่าว ศ.ดร.นฤมล ได้กล่าวว่า ตนต้องขอขอบคุณคณะทำงานทุกคนที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ถือเป็นการสร้างอนาคตที่สดใสด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย เพราะที่ผ่าน ศธ. ก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับเรื่องการเรียนรู้ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การพัฒนาคนที่จะต้องทำในเรื่องของห้องเรียนด้วย เนื่องจาก ศธ. เองคงจะต้องดูแลเด็กนักเรียน ไม่ใช่เฉพาะแค่ภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น ตนจะย้ำเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป ทั้งนี้ตนจะเน้นการพัฒนาคนบุคลากรไม่ว่าจะเป็นตัวนักเรียนเองหรือครู ซึ่งจะเน้นตรงจุดนี้ก่อนที่จะไปสู่การมีเครื่องมือเทคโนโลยี ดังนั้นตนยังไม่อยากเริ่มต้นซื้อเครื่องมือใหม่ แค่บุคลากรยังไม่ได้รับการพัฒนา เพราะเรื่องเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงศึกษาภายใต้ผู้บริหารชุดใหม่ ที่จะขอความกรุณาทุกคนมีคำแนะนำข้อเสนออะไรเชิงนโยบายอะไรขอให้บอกตนมาได้ จะดำเนินการให้สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำ อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมดังกล่าว ถือพบว่าสัดส่วนของเด็กไทยเข้าร่วมกิจกรรมนี้มากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทย ที่จะได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม
ต่อข้อถามว่า จะเน้นพัฒนาครูและนักเรียนให้มีความรู้มากกว่าการไปจัดซื้ออุปกรณ์เสริมการสอนเทคโนโลยี ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตใช่หรือไม่ ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า เรื่องนี้คงจะต้องหารือกันภายในกระทรวง และดูรายละเอียดเพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ตัวชี้วัดของโครงการที่กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามแนวนโยบายพัฒนาด้านการศึกษาของตนและ รมช.ศึกษาธิการชุดใหม่ จะเน้นที่ตัวบุคลากร เพราะตนอยากพัฒนาบุคลากรครูให้เกิดความยั่งยืน โดยเครื่องมืออุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครูนั้น มีราคาต้องจ่าย เช่น ค่าบำรุงรักษาสภาพเครื่องมือ เป็นต้น ดังนั้นตนมองว่าหากมีอุปกรณ์เสริมการสอนของครูและนักเรียน แต่ครูยังไม่มีความรู้หรือการพัฒนาการใช้งานก็จะไม่เกิดประโยชน์
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายที่ต้องการอยากจะผลักดันเร่งด่วนนั้น ตนมีแนวทางในใจตั้งแต่ก่อนเข้า ศธ. อย่างเป็นทางการแล้วว่าจะขับเคลื่อนเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ แต่เมื่อหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทำให้ตนเข้าใจว่าหลักสำคัญคือ การเรียนรู้เรื่องวิทยศาสตร์ขั้นพื้นฐาน โดยเร็วๆ นี้ ตนจะประชุมกับผู้บริหาร ศธ. และมอบนโยบายการศึกษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพราะในองค์กรหลักของ ศธ. มีภารกิจงานที่แตกต่างกัน ส่วนเสียงสะท้อนของครูที่ต้องการให้ศธ.ช่วยลดภาระงานครูที่ไม่จำเป็นนั้น เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญ โดยดิฉันจะวางแผนแก้ปัญหาให้ครู ซึ่งจะกำชับผู้บริหารศธ.งานนโยบายใดก็ตามจะไม่เพิ่มภาระครู ตรงไหนลดได้เราจะลดให้อย่างแน่นอน
“ดิฉันอยู่ในแวดวงการศึกษามาก่อน ดังนั้นวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของดิฉันจึงไม่ได้มองที่อุปกรณ์หรือตัวฮาร์ดแวร์ แต่ต้องการเน้นการพัฒนาศักยภาพความพร้อมของครูและนักเรียนควบคู่กัน เน้นทุ่มงบสนับสนุนการทำงานวิจัย เพื่อให้บุคลากรครูมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้อนาคตการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน” ศ.ดร.นฤมล กล่าว