กรมชลฯ พร้อมรับมือฝนตกหนัก ยันเขื่อนสิริกิติ์ยังรองรับน้ำได้
กรมชลฯ บูรณาการทุกภาคส่วน รับมือฝนหนักตอนบน ยืนยันเขื่อนสิริกิติ์ยังรองรับน้ำได้
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอย่างใกล้ชิด จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนวิภา ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27–29 กรกฎาคม 2568 ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 62% โดยยังสามารถรองรับน้ำได้อีกพอสมควร สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรับมวลน้ำเหนือที่ไหลบ่าในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 6,883 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 72% ของความจุ โดยยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,627 ล้าน ลบ.ม.
พร้อมกันนี้ ได้ปรับลดการระบายน้ำจากเดิมวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2568 เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่านตอนล่าง และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าปริมาณฝนจะลดลง เขื่อนสิริกิติ์จะปรับเพิ่มการระบายน้ำอีกครั้ง เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณฝนระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในเดือนกันยายน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน บูรณาการความร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตลอดจนติดตามการคาดการณ์ฝนร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับแนวโน้มปริมาณฝนในแต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด ไม่กระทบพื้นที่ด้านท้าย นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ สนับสนุนการเร่งการระบายน้ำช่วยลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 'อธิบดีกรมชลฯ' ติดตาม 'โครงการคลองยม–น่าน' วางแผนระบายน้ำช่วงฤดูฝน
- 'อรรถกร' ลงพื้นที่ติดตาม 'สถานการณ์น้ำสุโขทัย' สั่งชลประทานเร่งคุมน้ำยม
- 'อัครา' ลุยช่วยชาวพะเยาต่อเนื่อง ดัน 4 โครงการ แก้วิกฤติน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก
ติดตามเราได้ที่